อาจารย์-นศ.มอ.ปัตตานียื่นคำแถลงค้านกอ.รมน.แจ้งความ ถูกผู้กองปูเค็มคัดค้าน โต้เถียงหน้าโรงพัก

อาจารย์-นศ.มอ.ปัตตานียื่นคำแถลงที่สภ.เมือง ผู้กองปูเค็มเข้าคัดค้าน โต้ถกเถียงลั่นหน้าโรงพัก

ณ สภ.เมืองปัตตานี เวลา 9.30 น ดร.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) และ ดร.อัญธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ตัวแทนนักวิชาการของเครือข่ายเพื่อสิทธิพลเมือง(คนส.) และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จำนวน 20 คนได้เดินทางมาที่ สภ.เมืองปัตตานีเพื่อยื่นหนังสือคำแถลงการณ์ กรณี กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้เข้าร่วมเสวนาเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยื่นหนังสือกับพ.ต.อ.ญาณพงศ์ อุบลบาน ผกก.สภ.เมืองปัตตานีพร้อมกับพ.ต.ท.กิรติ ตรีวัย รองผกก.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองปัตตานีเป็นผู้รับหนังสือระหว่างคณะอาจารย์และนักศึกษากำลังอ่านแถลงการณ์อยู่นั้น ร้อยเอกทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนายทหารบก มากับคณะ4-5 คนเข้ามาร่วมด้วยอีกฝั่งหนึ่ง พยายามแสดงออกคัดค้านไม่เห็นด้วย และมีการถกเถียงกับนักศึกษาและอาจารย์ด้วยการเปล่งเสียงดังลั่นว่า “ไม่แก้มาตราที่ 1 ไม่แบ่งแยกแผ่นดิน“

Advertisement

จากนั้นคณะอาจารย์และนักศึกษา ได้อ่านแถลงการณ์ และยื่นหนังสือเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างนั้น ปรากฏว่า ผู้กองปูเค็ม ได้เดินเข้าไปหากลุ่มนักศึกษาและเข้าไปต่อว่า ที่มาเคลื่อนไหวในวันนี้เข้ามาเป็นตัวแทนแนวร่วมของขบวนการหรือของกลุ่มpermas ใช่หรือไม่

นายฟาห์เรนน์ นิยมเดชา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวตอบโต้ว่า อย่ามาปรักปรำพวกเราว่าเป็นแนวร่วม พวกเราไม่ใช่แนวร่วม วันนี้ที่เรามาร่วมแถลงการณ์ เรามาให้กำลังใจอาจารย์ ไม่มีการพูดถึงกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งเป็นหลัก พวกเราเชื่อว่าเสรีภาพในการพูด ไม่ว่ามาตราไหนก็แล้วแต่ ในทางวิชาการ ยังมีโอกาสแสดงออกได้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมให้กำลังใจกล่าวว่า มาให้กำลังใจอาจารย์ ไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มใด สิทธิพลเมืองและเสรีภาพในการพูด เป็นสิทธิที่ใครจะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่ได้โดยอยู่ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญ

Advertisement

 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ ใจความว่า

แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
กรณี กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับผู้เข้าร่วมเสวนาเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความกังวลต่อพฤติการณ์ของ กอ.รมน. อันเป็นหน่วยงานของรัฐต่อกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และขอแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนและเรียกร้องไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงต่อสังคมไทย ดังนี้

1. เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้เกิดเจตจำนงอันเสรีของประชาชน หากแต่เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของบุคคลบางกลุ่ม ฉะนั้น เมื่อประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติจึงย่อมมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น ในการนี้จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเสนอจิตนาการทางการเมืองของตนได้ แม้อาจจะขัดหรือแย้งกับระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีแต่การให้เสรีภาพทางความคิดและเปิดโอกาสให้สังคมได้อภิปรายด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะสามารถสร้างฉันทามติในการอยู่ร่วมกันได้ และจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ มีสถานะเป็น “สัญญาประชาคม” อย่างแท้จริง

2. การอภิปรายเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติย่อมครอบคลุมทุกส่วนของรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การอภิปรายยังอยู่ในครรลองของการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้จะเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อวิพากษ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะไม่มีหลักการใดสูงส่งกว่าหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน นอกจากนี้ แม้จะเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็สามารถหยิบยกมาอภิปรายได้ ตราบที่มิได้เป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เช่นเดียวกับการอภิปรายในประเด็นอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ

3. เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพทางความคิดและได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การนำบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐจากการกระทำที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังหรือสร้างความปั่นป่วนหรือยุยงให้ประชาชนก่อความไม่สงบอันกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐ ก็จะเห็นได้ว่าการเสนอให้มีการอภิปรายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ฉะนั้น การที่ กอ.รมน. นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชนจึงเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายอาญาเพื่อสร้างความเกรงกลัวหรือความยุ่งยากให้กับผู้ต้องหาและจำเลย และเป็นการข่มขู่ประชาชนทั่วไปให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น มีลักษณะเป็นการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (SLAPP) เช่นเดียวกับที่ดำเนินการกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายเพื่อหาฉันทามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

4. คนส. เห็นว่าในกรณีนี้ กอ.รมน. ได้ขยายบทบาทของตนเข้าสู่พื้นที่ของพลเรือน โดยทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นความมั่นคง และเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถเข้ามาแทรกแซงในประเด็นที่ต้องการได้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพที่มีเหนือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ด้วยความที่ กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ได้รับผลประโยชน์จากระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยตรง โดยเฉพาะจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 ซึ่งนอกจากจะทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจอย่างกว้างขวางในกิจการด้านความมั่นคงและดำรงอยู่เหนือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนแล้ว ยังขยายบทบาทเข้าไปในภารกิจทางพลเรือนอย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงอาจตั้งคำถามได้ว่าการแสดงบทบาทของ กอ.รมน. ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ กอ.รมน. หรือไม่

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมกับผู้มีรายนามแนบท้าย จึงมีข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณีข้างต้นดังนี้

1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยยึดถือหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 โดยสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ และเพื่อลดภาระของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลที่ต้องเสียไปกับการพิจารณาคดีที่มีลักษณะการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเช่นนี้

2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้กรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เพื่อชี้ให้นักศึกษากฎหมายเห็นอันตรายจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของผู้มีอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักนิติธรรมไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ในสังคมไทย

3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการของพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ด้วยศรัทธาต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง(คนส.)
9 ตุลาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image