‘กสทช.’ นัดถก ‘ดีอีเอส’ เคาะรายชื่อคณะกก.ขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ สัปดาห์หน้า

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถึงแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่า จะมีคณะทำงาน 10-15 คน ประกอบด้วยหน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย โดยให้สำนักงาน กสทช.ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ

นายฐากร กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน 5G นั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีให้กับประเทศไทย ซึ่งจากการรายงานที่ สำนักงาน กสทช. ทำการสำรวจ พบว่า ราคาของใบอนุญาต 5G หากมีการเปิดประมูลนั้น ในราคา 100 เมกะเฮิรตซ์ จะมีราคาเท่ากับ 40% ของราคาใบอนุญาตในระบบ 4G ที่ประมูลจำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งก็ทำให้ทราบว่า ราคาของใบอนุญาต 5G ที่มีการประมูลในต่างประเทศไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

“จากรายงานพบว่า หลายประเทศจะเปิดให้บริการ 5G ในพื้นที่เฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในประเทศไทยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2563 โดยสัปดาห์หน้าจะมีการยกร่างรายชื่อคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงดีอีเอสอีกครั้ง เพื่อผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันถึงดาวเทียมไทยคม 4 และ 5 ที่ปัจจุบันอยู่ในการถือครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 จะให้ย้ายมาใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์แทน จากเดิมที่ใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ กระบวนการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) จะเสร็จทันเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทานหรือไม่ ขอให้แจ้ง กสทช. เพื่อเตรียมออกมาตรการเยียวยาได้ทัน ป้งกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้งาน

Advertisement

ขณะเดียวกัน ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีที่ กสทช. ยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือโครงการเน็ตชายขอบ ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที ชนะการประมูล 3 สัญญา วงเงินรวม 6,486.39 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากคำนึงถึงการเปิดให้บริการ ซึ่งหากในพื้นที่ที่ ทีโอที รับผิดชอบไม่ส่ามารถเปิดบริการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกเลิกสัญญาดังกล่าว กสทช. จะจ่ายเงินให้กับ ทีโอที ตามที่ส่งมอบงานได้ตามจริง พร้อมเปิดประมูลใหม่แบบอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนโครงการที่ ทีโอที ทำไม่สำเร็จ โดยหากราคาประมูลเกินกว่ามูลค่าที่ ทีโอที ประมูลได้ ทีโอที ต้องรับผิดชอบส่วนต่างด้วย

สำหรับสัญญาที่ถูกยกเลิก ได้แก่ 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคเหนือ มูลค่า 2,103.80 ล้านบาท และ 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 2,492.59 ล้านบาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มูลค่า 1,899.99 ล้านบาท

“จากการที่ กสทช. รายงานการยกเลิกสัญญาทีโอที ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ก็เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะได้ทำให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกัน กสทช. อยากเปลี่ยนชื่อ โครงการเน็ตชายขอบ และโครงการเน็ตห่างไกลโซนซี เป็นโครงการยูโซ่เน็ตในพื้นที่ทุรกันดารและในพื้นที่ชนบท เพื่อป้องกันการสับสนกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีเอส มอบหมายให้ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการ” นายฐากร กล่าว

ขณะที่ เสนอให้กระทรวงดีอีเอส ตั้งกองหรือสำนักขึ้นมา เพื่อรับโอนทรัพย์สินในโครงการเน็ตชายขอบ และโครงการเน็ตห่างไกลโซนซีหลังจากสินสุดโครงการ 5 ปี โดยจะกระทรวงดีอีเอส จะมอบหมายให้ ทีโอที หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ดำเนินการต่อไปก็ขึ้นอยู่กระทรวงดีอีเอส

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image