คนไทยไม่จน! กรมศุลกากรเผยตัวเลขนำเข้ารถหรูบีเอ็ม-เบนท์ลีย์พุ่ง 102% 

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในรอบปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) ที่ผ่านมาพบการนำเข้ารถหรู ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) เบนท์ลีย์ (Bentley) และเมอเซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ขยายตัวสูงขึ้นมาก พบว่าในส่วนของผู้นำเข้าบีเอ็มดิบเบิลยู และเบนท์ลีย์มีการนำเข้ามาจำนวนมากขึ้น ส่งผลทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมเพิ่มขึ้นใน 2 ยี่ห้อดังกล่าวถึง 102.9% ส่วนเมอร์เซเดส-เบนซ์การจัดเก็บภาษีสูงขึ้น 1.8%

“การนำเข้ากลุ่มรถหรูสูงขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องจากในปีงบ 2561 ผู้นำเข้าชะลอนำเข้ารถยนต์ดังกล่าวเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบการนำเข้ารถหรูและกรมศุลกากรปรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคารถในการคำนวณภาษีใหม่ ดังนั้น พอในปี 2562 เรื่องต่างๆ ชัดเจน ทำให้ปริมาณนำเข้ารถยนต์ในกลุ่มนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ มองว่าส่วนหนึ่งนำเข้าสูงเพราะยังมีกลุ่มผู้ซื้อในไทยต้องการรถยนต์ดังกล่าวพอสมควร” นายชัยยุทธกล่าว

นายชัยยุทธกล่าวว่า ในกลุ่มรถยนต์ทำรายได้สูงสุดให้กับกรมศุลกากร โดยในปีงบ 2562 ที่ผ่านมา รถยนต์นั่งมีการจัดภาษีกว่า 1.28 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ส่วนประกอบรถยนต์จัดเก็บภาษีได้ 8.16 พันล้านบาท และรถยนต์โดยสารจัดเก็บได้กว่า 2.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้กรมตลอดทั้งปีงบ 2562 ทำได้กว่า 1.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากเอกสารงบประมาณตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 0.5% จากเป้าหมายจัดเก็บของกรมตั้งไว้ 1.08 แสนล้านบาท หรือจัดเก็บมากกว่าเป้าหมาย 523 ล้านบาท

Advertisement

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า ในปีงบ 2563 กรมรับเป้าหมายจัดเก็บภาษี 1.11 แสนล้านบาท ขณะนี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้ผู้บริหารของกรมวางแผน และเร่งรัดจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  โดยให้ความสำคัญกับภาษีทุกตัว ทั้งรถยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้สูงสุดใน 5 อันดับ เมื่อปีงบ 2562 ที่ผ่านมา

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า สำหรับผลการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากร ในปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 32,255 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,784 ล้านบาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบ 20.7% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 65.2% เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยง 79.3% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีหลีกเลี่ยง ถึง 34.8%

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภทโคคาอีน ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก และยาเสพติดประเภทเคตามีน โดยพบการนำเข้ายาเสพติด เช่น ใบกระท่อม กัญชา ตามแนวชายแดนภาคตะวันออกมากที่สุด

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image