ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน เหตุสงครามการค้าฯ-การเมืองยืดเยื้อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกันยายน 2562 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในทุกรายการ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 72.2 ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 73.5 เป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังมีผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ (เทรดวอร์) และทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

นายธนวรรธน์  กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 59.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 68.5 และดัชนีรายได้ในอนาคต ลดลงอยู่ที่ระดับ 88.9 ซึ่งความเชื่อด้านต่างๆ ที่ลดลงส่งผลให้ในเดือนนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ดี ประกอบกับสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ยังมีแนวโน้มราคาดิ่งลงต่อเนื่อง เป็นผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลจากเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ ยังคงมีความล่าช้าและไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร ทั้งเม็ดเงินจากการโอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการการประกันรายได้เกษตรกร และชิมช้อปใช้ ที่เม็ดเงินยังไม่เข้าสู่ระบบเท่าที่ควร รวมถึงยังไม่กระจายสู่ต่างจังหวัดมากนัก ประกอบกับสถานการณ์เทรดวอร์ที่มีความเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับประเทศจีนในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและมีผลโดยตรงกับการส่งออกของไทย อาจขยายตัวติดลบ 2-3% และส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2562 ขยายตัวต่ำกว่า 3% เหลือเพียง 2.6-2.8% หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลไตรมาส 4/2562 กังวลว่าเศรษฐกิจจะซบเซายาวไปถึงปี 2563 ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งหามาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพราะจากมาตรการที่ออกมามีการใช้จ่ายแค่ตามหัวเมืองของแต่ละจังหวัดเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image