‘หมอเฉลิมพล’ เตือนคนใต้ระวังโรคฉี่หนู หลังเสียชีวิตแล้ว 6 ราย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ในเขต 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน พบผู้ป่วย 257 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย คือ จ.ตรัง 2 ราย จ.นราธิวาส 2 ราย จ.พัทลุง 1 ราย และ จ.ยะลา 1 ราย

“อาการของโรคฉี่หนู ผู้ป่วยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขา และน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลืองตาเหลือง มีเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้” นพ.เฉลิมพลกล่าว

นพ.เฉลิมพลกล่าวต่อว่า การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู หมู วัว และควาย อาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขัง หรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน เกษตรกรผู้สัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน ต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหาร และน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รีบล้างมือ ด้วยน้ำ และสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด

“โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่าเชื้อเลปโตสไปรา เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝน และโดยเฉพาะหลังน้ำลด ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะ ที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้ง ผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค” นพ.เฉลิมพลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image