ชาวนาก้มหน้ารับสภาพข้าวกำลังตั้งท้องยืนต้นตาย หลังจนท.แจงต้องนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคก่อน

ชาวนามหาสารคามร่วมร้อยเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ขอนแก่น ขอน้ำให้นาข้าวกำลังตั้งท้องกำลังยืนต้นตาย

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่สำนักงานส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายปราโมทย์ พึ่งเพียร หน้าหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำชลประทานหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 ได้ทำการชี้แจงกับชาวบ้าน โดยมีตัวแทนประกอบด้วย นายวรจักร สารฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ยางชุมน้อย นายอดุลย์ คลังกลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 21 ต.หัวขวาง นางอาภรณ์ สุวรรณหงส์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ต.ห้วยขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 60 คน โดยขอให้ชลประทานหนองหวายทำการปล่อยน้ำให้ต้นข้าวในท้องนากว่า 7,500 ไร่ ที่ขาดน้ำกำลังยืนต้นตาย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับน้ำจากชลประทานเลย

นายวรจักรกล่าวว่า ชาวบ้านในเขตตำบลหัวขวาง ตำบลยางน้อย อ.โกสุมพิสัย กว่า 3,000 หลังคาเรือน มีพื้นที่ในการปลูกข้าวจำนวน 7,500 ไร่ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากไม่มีน้ำให้ข้าวซึ่งอยู่ระยะตั้งท้อง กำลังออกรวง รอวันยืนต้นตาย โดยที่ผ่านมาการทำนาของชาวนาต้องอาศัยน้ำฝน และน้ำจากพายุโพดุล แต่หลังจากหมดฝนน้ำก็ไม่พอที่จะให้ข้าวได้ออกรวง อีกทั้งการปล่อยน้ำของชลประทานที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งได้ข่าวว่าทางชลประทานหนองหวายได้มีการปล่อยน้ำให้กับชาวนา แต่น้ำไม่เคยถึงในเขตตำบลของพวกตนเลย น่าจะเป็นเหตุมาจากทางพื้นที่นาข้าวของพวกตนอยู่ปลายคลองสุดท้ายทำให้น้ำมาไม่ถึง

ดังนั้นชาวบ้านทั้งสองตำบลจึงได้มีการประชุมขอมติว่าจะต้องเดินทางมายังเขื่อนหนองหวายที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มาดูให้แน่ชัดว่าน้ำมีมากน้อยเท่าใด และต้องการเรียกร้องให้ทางชลประทานหนองหวายปล่อยน้ำสัก 5-7 วัน เพื่อให้ข้าวจะได้รอดตายสามารถเก็บเกี่ยวได้ เพราะว่าชาวบ้านมีอาชีพทำนาอย่างเดียว พืชเกษตรตัวอื่นไม่ได้เพาะปลูกเหมือนพื้นที่อื่น อีกทั้งยังต้องการให้ทางชลประทานสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อที่จะนำไปสูบจากแหล่งน้ำสาธารณะภายในหมู่บ้าน ไปช่วยต้นข้าวอีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement

ด้านนายปราโมทย์ กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจกับพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวที่เดินทางมาขอให้ปล่อยน้ำลงนาข้าว แต่ทางชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำให้ได้จริง ๆ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณต่ำกว่าระดับกักเก็บ มีน้ำระบายเพื่อรักษาระบบนิเวศลงสู่เขื่อนหนองหวายจำนวน 300,000 ลูกบาศก์เมตร และระดับน้ำหน้าฝายหนองหวายมีระดับเพียง 162.43 ม.รทก. ซึ่งต่ำกว่าระดับของทุกปี โดยน้ำจำนวนนี้จะต้องนำไปใช้สำหรับในการอุปโภคบริโภค เพื่อการผลิดน้ำประปาของจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ดังนั้นจะไม่สามารถปล่อยน้ำลงสู่คลองชลประทานเพื่อทำการระบายไปยังที่นาของเกษตรกรตามคำร้องขอไม่ได้แต่ทางสำนักงานชลประทาน สามารถที่จะช่วยเกษตรผู้ปลูกข้าวได้ด้วยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อทำการสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะไปยังผืนนาของเกษตรที่อยู่ละแวกใกล้เคียงได้ โดยทำหนังสือร้องขอเข้ามายังหน่วยงานชลประทานที่อยู่ในพื้นที่

จากนั้นชาวบ้านได้รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานหนองหวาย จนเป็นที่พอใจ และยอมรับสภาพของความแห้งแล้วขาดแคลนน้ำซึ่งได้รับผลกระทบทั่วกัน พร้อมกับสำนักงานชลประทานหนองหวายรับปากว่าจะช่วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่นำไปช่วยชาวนา จึงทำให้ชาวนาพอใจ ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้านต่อไป.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image