สถานีคิดเลขที่12 : เสียงปืนใหญ่กลบเสียงปืนพก โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

เสียงปืนพก นัดเดียวของผู้พิพากษา

ที่เรียกร้อง คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน

ไม่รู้ว่าจะถูกกลบด้วยเสียงปืนใหญ่

ที่ลั่นออกมาจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ไปบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา หรือไม่

Advertisement

โดย พล.อ.อภิรัชต์ ตูมตามออกว่า เรากำลังเผชิญกับ “สงครามลูกผสม”

เป็นการที่ผู้ประสงค์ร้ายกับแผ่นดิน อาทิ คอมมิวนิสต์ที่ถูกฝังชิป นักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ร่วมกันปลุกปั่น ล้างสมอง คนรุ่นใหม่ ให้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและกองทัพ ลามไปถึงสถาบันสำคัญของชาติ

หนึ่งในสงครามลูกผสม ที่ พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

คือปฏิบัติการลดความน่าเชื่อถือของขบวนการยุติธรรม

ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมพอดี

หลังมีเสียงปืนที่ลั่นขึ้น ณ ศาล จ.ยะลา

ไม่รู้ว่า นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการปฏิบัติการลดความน่าเชื่อถือนั้น หรือไม่

แต่คงน่าเสียดาย หากเรื่องจะถูกลดระดับลง ฐานเป็นหนึ่งในปฏิบัติการสงครามลูกผสม ดังว่า

อย่างไรก็ตาม การตั้งอนุกรรมการ ก.ต. ขึ้นมาสอบสวน ให้รู้ผลภายใน 15 วัน

ก็เชื่อว่าน่าจะมีแง่มุมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมอยู่ตามสมควร

คงไม่ได้จำกัดวงไว้เฉพาะ เรื่อง “จริยธรรม”

เพราะหากอยู่เพียงขอบเขตนั้น เราก็คงมีเรื่องเฉพาะ “บุคคล” มิได้รุกไป สู่ “ระบบ” อย่างที่หลายคนต้องการ

หวังว่าเราคงจะได้รับข่าวดีๆ จากศาล

และจุดนี้ อาจจะทำให้ประเด็นที่ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่ามีขบวนการดิสเครดิตการพิจารณาคดีของขบวนการยุติธรรม ได้รับการพิสูจน์ไปในตัว

รวมถึงอาจจะนำไปสู่การได้รับข้อเสนอดีๆ ด้วย

ว่าถึงข้อเสนอๆ ดี ก็อย่างที่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีเสวนาในหัวข้อ ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต

เท่าที่ติดตามข่าว เห็นข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตดีๆ จากนักวิชาการ หลายข้อ

อย่าง รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า

นี่เป็นการปะทะกันของ 2 แนวคิด

คือ แนวคิดของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ไม่อยากให้มีผู้มาตรวจ เพื่อจะได้พิพากษาอย่างอิสระ ภายใต้กฎหมาย ข้อเท็จจริงที่สืบพยานและเห็นเอง

ซึ่งปีกนี้คงจะพยายามจะอธิบายต่อว่า ถ้าคำพิพากษาไม่ได้คุณภาพ ก็จะมีกลไกตามกฎหมายสากล มีอุทธรณ์ มีฎีกา คอยแก้ไขอยู่แล้ว

อีกฝั่งหนึ่งเป็นผู้พิพากษาที่อาวุโส ที่มองว่าคำพิพากษาของศาลรุ่นใหม่ไม่มีคุณภาพ

เพราะพอมาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา กลับคำพิพากษาหมด

จึงอยากขอไปทำแนวให้ตรง ความยุติธรรมจะได้ลงไปถึงประชาชนตั้งแต่ต้น

ทางออกที่ รศ.ดร.ปกป้อง เสนอ ก็คือ

1.ยกเลิกไม่ให้ประธานหรืออธิบดีศาล มาคอยดูสำนวน จะเป็นการคืนความอิสระให้กับผู้พิพากษาอย่างแท้จริง

2.จะต้องปรับอย่างประนีประนอม ทำได้ในระยะแรกคือ ตรวจสำนวนเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

3.แม้ประธานศาล อธิบดีศาลได้แนะนำข้อกฎหมายแล้ว ถ้าองค์คณะไม่เห็นด้วยในข้อกฎหมายก็เป็นอิสระขององค์คณะที่จะยืนยัน

รศ.ดร.ปกป้องแนะว่า อาจจะมีความเห็นเติมไปในกรณีนี้ ว่า เป็นอิสระและไม่ได้มีผลทั้งทางตรงทางอ้อมในเรื่องของการดำรงสถานะผู้พิพากษาในปัจจุบันและในอนาคต ปัญหาจะหมดไปด้วยถ้อยคำเหล่านี้ที่ยืนยันความเป็นอิสระของศาล

ฟังตามนี้ ก็น่าสนใจออก

และหากได้พูดกันหลายๆ เสียง เมื่อนำมาประกอบกับผลสอบอย่างเป็นทางการ

เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

ไม่ใช่เสียงปืนใหญ่กลบเสียงปืนพกเสมอไป

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image