ระบบภาษีไทย : สิ่งที่ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง ที่ยั่งยืน โดย สมหมาย ภาษี

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะของญี่ปุ่น ได้ประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) จากอัตรา 8% เป็น 10% เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้คนไทยที่เป็นนักวิชาการและนักการเมืองต่างถามกันด้วยความแปลกใจว่า ทำไมนายกฯอาเบะของญี่ปุ่นจึงกล้าทำเช่นนี้ ซึ่งเหตุผลของความจำเป็นที่นักการเมืองญี่ปุ่นพูดให้ประชาชนเขาฟังมีมากมายอยู่ แต่สรุปได้ว่าเขาต้องทำเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนญี่ปุ่น

นักการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วกับของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย มีความคิดในการบริหารประเทศ ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนไม่เหมือนกัน ต่างกันราวฟ้ากับดิน ของเขาคิดถึงประชาชนเป็นหลัก เพราะเขารู้ว่าเขาได้พยายามให้การศึกษาและสร้างความเจริญและความรู้ให้กับประชาชนของเขามานาน จนถึงวันนี้เขารู้ว่าประชาชนของเขารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำเพื่อประชาชนจริง อะไรทำไม่จริง อะไรทำเพื่อหาเสียง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานั้น นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากไหน คิดว่าตนเองฉลาด รู้ทันวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เป็นแค่ความคิดของตนเท่านั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ฉลาดเหมือนๆ กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับการศึกษาไม่เพียงพอ และรับความรู้ผิดๆ ถูกๆ จากการจัดระบบการศึกษาที่ไม่ดีของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย เมื่อเป็นเช่นนี้ นักการเมืองในประเทศที่ล้าหลังจึงคิดถึงแต่ตัวเองและพวกพ้องก่อนคิดถึงประชาชน การขึ้นภาษีแบบนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจึงไม่มีให้เห็นในประเทศกำลังพัฒนาแบบประเทศไทย ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่

ถ้าย้อนไปดูที่มาที่ไปของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตของไทยนั้น ประเทศไทยได้เริ่มใช้ภาษีแวตมาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2535 ทั้งนี้ เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวเร็วมาก และระบบภาษีการค้าที่เก็บอยู่ก็มีจุดอ่อนมาก ซึ่งข้าราชการของกระทรวงการคลังรวมทั้งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยขึ้นมานั้นบางท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อายุไม่น้อยกว่า 70 ปีแล้วทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำภาษีแวตมาใช้ครั้งแรกนั้น ประเทศไทยเริ่มเก็บที่อัตรา 10% แต่ปัจจุบันไทยเราเก็บที่อัตรา 7% ซึ่งอัตรานี้เราขอลดกับ IMF เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540

Advertisement

การประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกรกฎาคม 2535 นั้นเกิดขึ้นในสมัยของท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รสช. การปรับระบบภาษีครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างภาษีครั้งยิ่งใหญ่ของไทยนับตั้งแต่ปี 2525 ที่ท่านนายกฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ในช่วงรัฐบาลปฏิวัติ ปี 2535 ยังได้มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่แสนจะล้าหลังของไทยอีกด้วย คือได้ปรับโครงสร้างเหลือเพียง 5 ขั้นอัตรา และได้ลดอัตราสูงสุดที่เก็บ 50% เหลือเพียง 37% พร้อมลดอัตราลงมาทุกระดับ จึงนับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างคุณให้แก่ประเทศชาติจริงๆ

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 นั้น พ่อค้า ประชาชนและนักธุรกิจลำบากยากจนลงไปมาก จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยการให้เงินกู้จำนวนมากแก่รัฐบาล เพื่อไม่ให้ประเทศไทยล้มละลายลงไปกองกับพื้น เมื่อ IMF เข้ามาช่วย เขาก็ต้องมีหน้าที่มากำกับการบริหารด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเงินการคลังทั้งหมดของไทยเป็นเวลานานอยู่หลายปี จนเราฟื้น การลดภาษีแวตลงเหลือ 7% ที่ต้องประกาศเป็นรายปีก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก IMF ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้ เพราะมีการเซ็นข้อตกลงกันว่าจะให้ขอลดได้ทีละปี ซึ่งหมายความว่า IMF เห็นว่าภาษีแวตที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยควรอยู่ที่ 10% ไม่ใช่ 7% นี่เป็นตัวอย่างประการหนึ่งของระบบภาษีของประเทศไทยเรา ที่ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง แต่มีความยั่งยืน

ภาษีแวตนี้นับว่าเป็นภาษีหลักของประเทศ เป็นภาษีตัวใหญ่ที่สุดในระบบการจัดเก็บรายได้ของประเทศ เทียบกับประเทศในยุโรปเขาเก็บกันถึง 20% หรือมากกว่า โดยเฉพาะประเทศที่มีสวัสดิการสังคมสูงและดีมากในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เขาเก็บภาษีแวตกันสูงมาก เช่น ประเทศสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ เก็บที่อัตรา 25% ฟินแลนด์เก็บ 24% ฝรั่งเศสและอังกฤษเก็บ 20% เยอรมนีเก็บ 19% เป็นต้น ประเทศที่เก็บภาษีแวตสูงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะลดอัตราลงเหลือเก็บไม่เกิน 7-12% สำหรับสินค้าประเภทอาหารและยา

Advertisement

ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าในยุโรปมาก อย่างประเทศสิงคโปร์ที่เศรษฐกิจของเขาเน้นไปที่การทำการค้าจะเก็บเพียง 7% เท่าไทย แต่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม จะเก็บที่อัตรา 10% อัตราที่เก็บของประเทศอื่นจะน้อยหรือมากก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าไม่เหมือนของประเทศไทย คือเขาไม่ถอยหลังเข้าคลองแบบเรา แต่เดิมที่ไทยนำระบบภาษีแวตมาใช้เราเก็บเริ่มต้นที่ 10% ซึ่ง 5 ปีที่เก็บในอัตรานี้เศรษฐกิจของเราก็เจริญก้าวหน้าดี แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ก็ลดลงเหลือ 7% ซึ่งเรามีเหตุผลที่จะลด แต่ครั้นสบายดีขึ้นไม่มีผู้นำรัฐบาลไทยคนไหนกล้าที่จะปรับขึ้นไปสู่ที่เดิม แต่กลับสร้างความขี้ขลาดด้วยการลากยาวมาถึง 22 ปีแล้ว

ทุกวันนี้ยิ่งน่ากลัวมากขึ้น เพราะรัฐบาลนี้หันมาใช้นโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อนหลายเท่าตัว ต้องใช้งบประมาณปีหนึ่งๆ จำนวนมาก ภายใต้ผู้นำคนปัจจุบันนี้ยิ่งลดแลกแจกแถมแหลกเพื่อจะให้เป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรป แต่ก็ไม่เหมือนเขา เพราะเขาเป็นสวัสดิการจริงที่มั่นคงและยั่งยืน ส่วนของไทยเราแจกแหลก แต่ทำไปทำมาแทนที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นกลับเลวลง ปีหน้าก็น่าจะยิ่งทรุดต่อไปอีก เราทำเลียนแบบชาติในยุโรปในด้านรัฐสวัสดิการ ถึงกับมีการไปคุยโอ้อวดถึงองค์การสหประชาชาติ หรือ UN แต่เราไม่พยายามเก็บภาษีให้สูงแม้แต่เศษเสี้ยวของเขา อย่างนี้จะอยู่รอดไป
ได้สักกี่น้ำ

มองย้อนหลังเรื่องการปรับปรุงระบบภาษีตั้งแต่สมัยรัฐบาลปฏิวัติ รสช.เมื่อปี 2535 หรือแม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงภาษีหรือระบบภาษีที่เป็นสาระเลยสมัยรัฐบาลเลือกตั้งที่พอคิดทำได้ก็คือการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ เพราะของเราในสมัยโน้นเก็บกันที่อัตรา 30% ของกำไรสุทธิ ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งมาก จึงมีการปรับลดอัตราลง 2 ครั้ง จนกระทั่งภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกลดลงเหลือ 20% ในปัจจุบัน

พอมาถึงรัฐบาล คสช.ในปี 2557 คณะ คสช.ได้วางนโยบายปรับปรุงภาษีให้ดูเหมือนว่าจะเก็บภาษีจากคนรวยให้มาก ซึ่งคนทั่วไปเมื่อได้ฟังแล้วจะชื่นชม เพราะเขาฟังแต่ชื่อภาษีที่จะทำก็คิดว่าดี ทั้งที่ คสช.ได้ฟังจากข้าราชการประจำโดยไม่ต้องคิด ก็ตกลงกำหนดเป็นนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) และจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน (Property Tax) ขึ้นมา ภาษีการรับมรดกนั้นใครก็รู้ว่าออกมาได้แต่เก็บจริงทำได้ยาก แต่เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงมีการเข็นออกมาจนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559

ในหลักใหญ่ได้กำหนดจะเก็บภาษีการรับมรดกของทายาทที่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานในอัตราร้อยละ 5 ของทรัพย์มรดกตามรายละเอียดที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเดิมที่ร่างภาษีการรับมรดกตอนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของ คสช.และผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ได้กำหนดอัตราที่จะเก็บภาษีการรับมรดกนี้ไว้ที่ร้อยละ 10 ไม่ใช่ร้อยละ 5 แต่ก่อนจะมีการนำร่างสุดท้ายเข้าสภา สนช.ก็ถูกกดดันจากทั้งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกส่วนใหญ่ของ สนช.ให้เหลือเพียงแค่ 5% นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่จริงใจในการจะเก็บภาษีให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่พร่ำพูดอยู่ทุกวี่ทุกวันของผู้มีอำนาจ

อย่างที่ได้พูดกันและรับทราบกันในข้อเท็จจริงว่าภาษีการรับมรดกนี้เก็บได้ยาก โดยเฉพาะผู้ที่ร่ำรวยมากจากการประกอบธุรกิจใหญ่ๆ เขาสามารถหลบเลี่ยงได้ไม่ยาก เหลือแต่ผู้ที่ทำมาหากินแบบธรรมดารับมรดกเก่าจากบรรพบุรุษมา ก็ไม่รู้หรือไม่มีทางจะหลบเลี่ยงก็ต้องเสียภาษี
ไปตามกฎหมาย

จากรายงานของกระทรวงการคลัง ผลงานการจัดเก็บได้ฟ้องให้เห็นชัดอย่างที่รู้กันว่า ภาษีการรับมรดกนี้ออกมาอย่างไรก็ไม่ได้ผล นับตั้งแต่วันมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2561 มีการจัดเก็บภาษีการรับมรดกได้มาทั้งสิ้น 735 ล้านบาท เท่านั้นเอง เงินจำนวนแค่นี้นักธุรกิจขนาดกลางรายเดียวหลบภาษีแว่บเดียวก็ได้แล้ว

ภาษีอีกตัวหนึ่งที่ คสช.ได้กำหนดเป็นนโยบายมาตั้งแต่ตอนปฏิวัติสำเร็จใหม่ๆ คือภาษีทรัพย์สิน (Property Tax) ซึ่งได้เริ่มร่างตั้งแต่มีการปฏิวัติโดย คสช.ในเดือนพฤษภาคม 2557 เช่นกัน ภาษีทรัพย์สินนี้ ที่จริงก็คือการนำภาษีที่ดินที่แสนจะเละเทะและไร้ประสิทธิภาพมาปรับปรุงแล้วรวมเข้ากับการเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านและอาคารเข้าด้วยกัน ในหลักการภาษีทรัพย์สินใหม่นี้จะยกรายได้ที่จัดเก็บได้ให้ท้องถิ่นของใครของมันไปทั้งหมด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการอุดหนุนท้องถิ่นของรัฐให้น้อยลง และที่สำคัญที่สุดจะเป็นภาษีที่สามารถเก็บจากผู้มีทรัพย์สินมาก และอัตราจะลดไปตามลำดับจนไม่เก็บภาษีนี้เลยสำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าที่ระดับหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายทรัพย์สินนี้ผู้ที่มีฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็จะไม่ถูกเก็บ การไม่เก็บภาษีทรัพย์สินโดยใช้เกณฑ์แบ่งที่ 50 ล้านบาทนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นเกณฑ์ที่ชนชั้นปกครองที่บริหารประเทศขณะนี้ รวมทั้งสมาชิก สนช.ที่เป็นผู้ออกกฎหมายนี้ ส่วนใหญ่รอดตัวไม่ต้องถูกเก็บ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั้งประเทศจะมีผู้ถูกเก็บภาษีทรัพย์สินไม่เกิน 10,000 หลังคาเรือนเท่านั้น

เดิมทีตอนร่างกันใหม่ๆ ไม่ได้กำหนดฐานภาษีที่ยกเว้นไว้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท แต่ได้พิจารณากำหนดไว้ที่ 5-10 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ฐานภาษีกว้างไว้ก่อน โดยจะมีอัตราขั้นบันไดลดหย่อนให้ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีให้รัฐทั่วถึงมากขึ้น เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศแต่คนไทยไม่เหมือนคนยุโรป คนอเมริกัน คนญี่ปุ่น คนชาติที่เจริญแล้วทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อร่างแรกของภาษีทรัพย์สินถูกตีเป็นข่าวออกไป ประชาชนยังไม่ค้าน แต่ผู้ที่กุมอำนาจปกครองทั้งหลายก็ออกอาการคัดค้านกันออกมา เพราะผู้ที่กุมอำนาจปกครองของไทยมักจะคิดถึงตนเอง ญาติโกโหติกาและพวกพ้องก่อนคนอื่น ภาษีทรัพย์สินที่ได้ประกาศเป็นกฎหมายชัดเจนซึ่งถูกดึงและยื้อมานานถึงร่วม 5 ปี รวมทั้งมีการทำศัลยกรรมใหม่ให้มีอัตราลดต่ำลงทุกประเภทโดยฝีมือของ สนช.ชุดของ คสช. ซึ่งขณะนี้ทำเสร็จสมบูรณ์และจะมีผลบังคับแล้ว และจะทำการจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สิริรวมเวลาจัดทำทั้งสิ้นรวม 6 ปี สำหรับภาษีที่ถือว่าดีที่สุด ภาษีที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมมากที่สุด และเป็นภาษีที่จะทำรายได้ให้รัฐบาลเป็นกอบเป็นกำ

ในที่สุดก็ถูกทำศัลยกรรมโดยคณะ สนช.ของ คสช. ซึ่งเป็นผู้รักชาติตัวจริงทั้งหลาย ก็ได้ปรากฏโฉมออกมาให้เห็น ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดติดตามความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติเอาเองเถอะครับ

ก่อนจะจบเรื่องใคร่ขอสรุปการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561-ส.ค.2562) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเก็บได้น้อยกว่าระยะเดียวกันของปีงบประมาณ 2561 และต่ำกว่าเป้าหมายของปีนี้มาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร ภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ของกรมสรรพาสามิต ในปีงบประมาณ 2562 นี้ ภาษีหลักของไทย 3 ตัวดังกล่าวที่ปรับเป้าใหม่ให้ต่ำลงแล้วรวมกัน จะต้องจัดเก็บให้ได้ 1,176,000 ล้านบาท หรือ 46% ของเป้าหมายการเก็บภาษีสุทธิปีงบประมาณ 2562 ที่กำหนดไว้จำนวน 2,550,000 ล้านบาท แต่ผลการจัดเก็บ 11 เดือน แสดงว่าภาษี 3 ตัวหลักนี้เก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่ถูกปรับให้ต่ำลงแล้วถึง 16,700 ล้านบาท หรือต่ำไป 1.4% ทำให้ยอดรายได้จากการจัดเก็บภาษีสุทธิในปีงบประมาณนี้อาจไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และจะไม่ได้ตามสัดส่วนที่ตั้งไว้ร้อยละ 15.0 ของ GDP แต่รายจ่ายไม่ได้ลดตามรายได้ ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตอนสิ้นปีงบประมาณ 2562 ในเดือนกันยายนนี้ คืองบขาดดุลที่ต้องกู้เงินมาใช้ตามกรอบความมั่นคงทางการคลังจำนวน 450,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 2.6 ของ GDP ก็จะไม่พอ ซึ่งจะหลุดกรอบวินัยทางการคลังไปด้วย

การจัดเก็บภาษีที่หลุดเป้าแบบมากมายไม่เห็นฝั่งในปีนี้ จะไปโทษอธิบดีกรมเก็บภาษีเขาไม่ได้เพราะเขาได้พยายามทำสุดฤทธิ์แล้ว และได้ออกข่าวขี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วด้วย เช่นเดียวกับการส่งออกซึ่งหลุดเป้าแบบถล่มทลายเช่นกัน ถ้าตัวเลขที่สมบูรณ์ออกมา เราอาจเห็นการส่งออกติดลบ คือส่งออกได้น้อยกว่าปีก่อน ทั้งๆ ที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเขาก็ทำงานกันเต็มที่แล้วเช่นกัน จะไปโทษเขาก็ไม่ได้อีก แล้วใครควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขอได้โปรดอย่าคิดว่าผมชอบด่าว่าผู้นำรัฐบาลนะครับ แต่ผู้ใหญ่ที่บริหารประเทศอย่างต่อเนื่องมาหลายปีจนถึงวันนี้ ก็มีแต่ท่านนายกรัฐมนตรีกับท่านรองนายกรัฐมนตรีคู่ใจ 3 ท่านเท่านั้น

สิ่งที่จะได้เห็นในสิ้นปีงบประมาณนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการคลังของประเทศมาก กล่าวได้ว่าสัญญาณอันตรายทางด้านการคลังของไทยได้เกิดขึ้นแล้ว จะอ้างว่าเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังแข็งปึ้กอยู่นั่น มันไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้ แน่นอนภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะไม่เกิด แต่ภาวะวิกฤตทางด้านการคลังของประเทศนี้ได้เริ่มเกิดให้เห็นชัดแล้ว ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนคนไทยจะประสบความทุกข์ยากในเรื่องไม่มีเงินในกระเป๋าจนขาดอำนาจซื้ออย่างที่เห็น จะจัดรายการแจกเงินแบบชิมช้อปใช้สัก 10 ครั้ง ก็แก้ไขไม่ได้หรอกครับ ซึ่งวิธีแก้ไขแบบฝึกคนไทยให้เป็นขอทานมากขึ้นๆ เช่นทุกวันนี้ บอกได้ว่ามันทำลายเกียรติภูมิความเป็นคนไทยเสียเหลือเกิน ความทุกข์ยากของคนไทยจะร้ายแรงขึ้นอย่างไรรับรองได้ว่าปีหน้าฟ้าใหม่จะเห็นแจ่มชัดกว่านี้

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image