กระทรวงศึกษากับความหวังในมือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

กระทรวงศึกษาธิการ หลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รับตำแหน่งผู้บริหารของกระทรวงนี้ ผู้เขียนได้เฝ้าติดตามแนวคิดในการขับเคลื่อนกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าหลายประเด็น หลายปัญหา ที่รัฐมนตรีมุ่งมั่นและตั้งใจในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตรงปัญหา และเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากฝากท่านรัฐมนตรี อย่าลืมปัญหาดังต่อไปนี้ที่ควรคำนึง

1.ปัญหาด้านคุณภาพของครู
ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังมีอยู่ไม่น้อย เช่น ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้และเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ด้านคุณภาพของครูส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการผลิตไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ตั้งแต่อาจารย์ผู้สอน กระบวนการวัดและประเมินผลที่หละหลวม กระบวนการฝึก+อบรมที่เข้มข้น กับหลักสูตรผลิตครู ขาดการบ่มเพาะด้านคุณธรรม จริยธรรม ครูส่วนใหญ่ขาดความรู้หรือทักษะในกาสอน ทักษะชีวิตที่ดีให้แก่ศิษย์ เมินเฉยต่อพฤติกรรมที่เสี่ยงของศิษย์ มุ่งเน้นแต่ความรู้มากกว่าสอนด้านมารยาท และขนบประเพณีที่ดีของสังคมไทย ครูก็น่าเป็นห่วงเพราะครูมีหนี้สินล้นตัว เมินเฉยกับการใฝ่รู้ โครงการคูปองครูเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้ครูทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง แต่มีคนบางกลุ่มมองว่าไร้คุณภาพ พยายามมุ่งมองในแง่ร้าย เพื่อยกเลิกโครงการนี้ ที่จริงแล้วหลักการโครงการนี้ ทำเพื่อครูทุกคนให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา แต่วิธีการอาจจะมีปัญหา ก็น่าจะแก้ไขในปัญหา ไม่ใช่ยกเลิกโครงการ

2.คุณภาพของผู้บริหาร
ด้านผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อธิบดี หรือกรมต่างๆ มาจนถึงระดับภูมิภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ จนถึงผู้บริหารโรงเรียน ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นถือว่าสำคัญมากๆ ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ไทยเราได้ชื่อว่าเปลี่ยนจนข้าราชการจำท่านรัฐมนตรีไม่ได้ กลายเป็นตำแหน่งที่เป็นสมบัติผลัดกันชม หรือเก้าอี้ดนตรีก็ว่าได้ ส่งผลให้นโยบายที่วางไว้ขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนรัฐมนตรีทุกครั้ง นโยบายก็จะเปลี่ยนไปทุกครั้งเช่นกัน มาระดับภูมิภาคตั้งแต่ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการเขตพื้นที่ เท่าที่ติดตามดูแล้วยังไม่ลงตัว เสือคนละถ้ำกัน ต่างคนต่างทำ
ขาดการบูรณาการซึ่งกันและกัน มักจะมีข่าวอยู่เสมอถึงความไม่ลงตัวในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการศึกษาโดยภาพรวม

สุดท้ายคือ ผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่โดยภาพรวม อยู่ในระดับดี มีวิสัยทัศน์และมุ่งมั่นในการทำงานเป็นยุคคนหนุ่มๆ แต่บางคนขาดประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียน อาชีพเดิมเป็นครู พอเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหาร ทำอะไร
ไม่ถูก ไม่เป็น ขาดความรู้และเทคนิคในการบริหาร หลักสูตรผู้บริหาร แค่เดือนเศษๆ ไม่เพียงพอ ควรยกเลิกการสอบผู้บริหารแต่ควรเน้นประสบการณ์ร่วมกับการสอบ และควรกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารเสียใหม่ ให้สิทธิกับบุคคลที่ผ่านหัวหน้างานมาอย่างน้อย 4 ปี และต้องผ่านการรับรองเกี่ยวกับพฤติกรรมและอุดมการณ์ ทัศนคติที่ดีของความเป็นครูมาก่อน ไม่ใช่ใครก็ได้ เมื่อตอนเป็นครูไม่อยากสอนทิ้งชั่วโมงสอน แต่กลับมีโอกาสสอบเป็นผู้บริหาร

Advertisement

พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ควรให้เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร

3. ปัญหาการวัดและประเมินผล
การวัดและประเมินผล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพของผู้เรียน เพราะครูผู้สอนขาดความรู้และเทคนิคการวัดและประเมิน เครื่องมือการวัดขาดความเที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ไม่สอดคล้องกับความรู้และวุฒิภาวะของผู้เรียน ผู้สอนขาดการจำแนกผู้เรียน การวัดเน้นการท่องจำเป็นหลัก เครื่องมือการวัดไม่ให้ความสำคัญด้านทักษะและกระบวนการ ส่งผลให้เด็กคิดไม่เป็น แก้ปัญหาไม่เป็น ขาดการจินตนาการและสร้างสรรค์ ส่งผลให้ผู้เรียนขาดทักษะในการแก้ปัญหาของการดำเนินชีวิต สุดท้ายเมื่อเจอปัญหาขึ้นมาไม่มีทางออก ก็จบด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น ปัญหานี้ผู้รับผิดชอบไม่ควรมองข้าม และช่องทางที่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ คือ การสอนที่เน้นทั้งความรู้และทักษะชีวิตควบคู่กันไป รวมถึงการวัดและประเมินที่ยืดหยุ่น และวัดด้วยการเน้นที่ทักษะ

4.ปัญหาด้านหลักสูตร
หลักสูตรควรได้รับการปรับปรุง และแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิด ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไรกับโลกแห่งอนาคตที่ไม่หยุดนิ่งได้อย่างไร หลักสูตรและวิธีสอนแบบเดิมๆ ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ทักษะเดิมๆ หลักสูตรเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ภาษาที่สองที่สามอาจจะไม่ใช่เพื่อสื่อสารกับบุคคล แต่เป็นภาษาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และ AI เดิมผู้เรียนมักจะเป็นฝ่ายรับและเรียนรู้จากครูมอบให้ แต่โลกยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานด้วยตนเอง ด้วยคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่อยู่ในมือ

ผู้เรียนยุคใหม่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (Passive) มาเป็นผู้สร้าง (Active) ทักษะความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน คือ ทักษะที่โลกต้องการและสำคัญในยุคของ AI ทักษะของการทำงานร่วมกัน เรียนรู้ด้วยกัน โดยไม่มีข้อจำกัดเวลาและสถานที่ รวมถึงกลุ่มคน เพื่อให้ทุกคนสามารถเชื่อมโยงกันได้ ห้องเรียนและหลักสูตรยุคใหม่ต้องยืดหยุ่น มีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจับกลุ่มเปลี่ยนกลุ่ม ปรับรูปแบบการเรียนรู้กันได้อย่างอิสระ เป็นห้องเรียนและหลักสูตรที่เปิดกว้างและทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

ปัญหาทางการศึกษาของไทยมีมากมายและหลากหลายที่รอผู้รับผิดชอบ แก้ไขและปรับปรุง กระทรวงศึกษา ภายใต้การบริหารของท่านรัฐมนตรี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่เป็นคนหนุ่ม เข้าถึงและเข้าใจปัญหาทางการศึกษา มีหลายปัญหาที่ท่านรัฐมนตรีรับรู้ รับทราบ พร้อมออกมาใช้มาตรการต่างๆ ดูแล้วเป็นความหวังของบุคลากรทางการศึกษาไม่น้อยทีเดียว และโดยเฉพาะในสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทยหน่วยหนึ่ง แนวโน้มได้ผู้บริหารอย่างท่าน อำนาจ วิชยานุวัติ ที่ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยแล้วน่าจะมีสัญญาณที่ดี เพราะเป็นคนที่รู้เท่าทันของปัญหาของ กพฐ. ได้ดีคนหนึ่ง
เช่นกัน
อย่างกรณีให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการชะลอการดูงานต่างประเทศ หยุดการจัดงานอีเวนต์ที่ใช้เงินมากๆ นี่เห็นได้ชัดว่าท่านเป็นคนรอบคอบในการบริหารจัดการที่คำนึงถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน หรือกรณีที่ ท่านอำนาจ เลขา สพฐ. ออกมาเสนอแนวทางการสอบเข้าเรียนของนักเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ไม่ควรสอบทั้งหมด ทั้งนี้ได้คำนึงถึงโอกาสของนักเรียนที่ด้อยโอกาส คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของนักเรียน หรือกรณีผู้อุปการคุณที่มีต่อสถานศึกษาก็ไม่ควรมองข้ามและให้ความสำคัญ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ประสานผลประโยชน์ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเดินไปข้างหน้าทั้งสิ้น

ผู้เขียนขอชื่นชม เป็นกำลังใจและฝากความหวังไว้กับทั้ง 2 ท่านครับ

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ
กรรมการที่ปรึกษา โรงเรียนดาวนายร้อย
กรรมการยุทธศาสตร์ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image