กก.สภาหอการค้าไทย แนะ “ชิม ช็อป ใช้” ขยายเวลาใช้เงิน หลังรายได้กระจุกบางร้าน

กก.สภาหอการค้าไทย แนะ “ชิม ช็อป ใช้” ขยายเวลาใช้เงิน หลังรายได้กระจุกบางร้าน

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของโครงการ ชิม ช็อป ใช้ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงราย ลำปาง เดินทางมาใช้จ่ายเงินในโครงการดังกล่าวกันอย่างคึกคักในช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ที่ผ่านมา และชาวจังหวัดพะเยาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดได้ใช้สิทธิ์ต่างจังหวัดเช่นกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจ ค้าขาย ต่อไปได้ ไม่เงียบเหงาเหมือนที่ผ่านมา

นายโกวิท ไชยเมือง ประธานชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ และ กรรมการหอการค้าจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ถือได้ว่าโครงการชิม ช็อป ใช้ เป็นโครงการที่จุดติดไฟแล้ว เพราะคน 10 ล้านคน ลงทะเบียนกันเต็มจำนวน ได้เงินคนละ 1,000 บาท และใช้กันอย่างคึกคักจริง สังเกตได้จากวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน ที่ผ่านมา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ มีลูกค้าแห่ลงมาใช้สิทธิกันแน่นร้านตลอดทั้งวัน จากภาพดังกล่าวทำให้เกิดการหมุนของกลไกเศรษฐกิจระดับล่าง เงิน 1,000 บาท หมุนไปอย่างไรบ้าง ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ธุรกิจรีไซเคิล ร้านขายยา ฯลฯ คนที่ไม่เคยใช้เงินก็ได้ใช้ เพราะต้องพาคนในครอบครัวรวมตัวกันไปเที่ยวต่างจังหวัด จะเป็นการซื้อของหรือเที่ยวก็ถือว่าเป็นการใช้จ่ายแล้ว

“จากเดิมร้านค้าเหล่านี้เคยเงียบเหงาซบเซา แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการ ชิม ช็อป ใช้ ทำให้มีการกระตุ้นใช้เงินกันในระดับล่าง ถึงระดับกลาง ส่งเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดการหมุนเวียน ต่อลมหายใจไปต่อได้อีก ไม่ซบเซาอีกแล้ว ถือว่ารัฐบาลทำได้ แม้จะไม่มาก แต่หากมองบวกก็จะเป็นผลดีเช่นกัน พร้อมกันนี้ต่อไปคือโครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไป ที่รัฐบาลก็จะต้องทำให้จุดติดและต่อยอดให้ได้เช่นกัน” นายโกวิท กล่าว

ด้าน นายหัสนัย แก้วกุล กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ ชิม ช็อป ใช้ ถือว่ารัฐบาลทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง จากการที่ประชาชนมีการเดินทางและใช้จ่ายกันจริง แต่ก็มีข้อสังเกตที่เป็นข้อจำกัดของโครงการอยู่บ้าง 1.เงื่อนเวลาที่ให้ประชาชนใช้เงินในโครงการ ตนมองว่าเป็นการเร่งรัดเกินไป ประชาชนไม่มีเวลาได้เตรียมตัวและค้นหาร้านค้าที่ใช้บริการได้มากกว่า เพราะต้องเร่งใช้เงินกลัวจะหมดเวลาไม่ทันได้ใช้สิทธิ

Advertisement

และ 2.จุดที่ใช้สิทธิ์มีการกระจุกตัว เช่น ผู้ใช้สิทธิ์แห่พากันไปใช้ในร้านค้าใหญ่ ๆ ตามห้างสรรพสินค้า ร้านของชำขนาดใหญ่ ร้านค้าทั่วไป หรือ ร้านค้าประเภทอื่นไม่เป็นที่รู้จักประชาชนก็ไม่ได้เข้า ทำให้เงินกระจุกตัว ไม่กระจายรายได้ไปสู่ร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ในต่างพื้นที่

“ดังนั้นโครงการถัดไป หากเป็นในลักษณะดังกล่าว ควรให้เวลากับผู้ใช้สิทธิได้มีเวลาค้นหาร้านค้า หรือ ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการได้มากขึ้น เมื่อกระจายเม็ดเงิน ก็จะกระจายรายได้อย่างแท้จริง” นายหัสนัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image