ดัชนีเชื่อมั่นฯ เดือนก.ย. วูบต่อ 7 เดือนติด เจอพิษปัจจัยใน-นอกซัดอ่วม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือน กันยายน 2562 ดัชนีลดลงสู่ระดับ 46.2 จากเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 46.5 ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน มีนาคม 2562 โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) และความไม่ชัดเจนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกดูไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อทิศทางการส่งออกของไทย ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 4% และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

“เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวช้า เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมมไม่ขาดสาย อีกทั้งปัจจัยในประเทศก็ยังสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องอยู่  โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่มีทิศทางจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า เพื่อไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และเพื่อดันให้มาตราการชิมช็อปใช้ เห็นผลมากขึ้นด้วย รวมถึงบาทแข็งยังส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทยลดลงในปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเติบโตติดลบได้ที่ 2% รวมถึงกำลังซื้อในประเทศก็ตกต่ำ เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำและมีหลายรายการที่ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ เป็นปัจจัยบั่นทอนเพิ่มเติม”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชน และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียน การใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าการใช้เงิน 1,000 บาทของประชาชนที่ได้รับสิทธิไป จะใช้จ่ายครบทั้งหมด ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนกระเป๋าที่ 2 ถึงแม้จะยังไม่ด้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก แต่เชื่อว่าการออกเดินทางใช้เงิน 1,000 บาทนั้น จะต้องใช้เงินส่วนตัวบ้าง ทำให้คาดว่าจะเกิดการใช้จ่ายเพิ่มกว่า 1-1.5 เท่า และสร้างเม็ดเงินเพิ่ม 20,000-30,000 ล้านบาท โดยหากรัฐบาลจะออกชิมช้อปใช้ เฟส 2 ต่อเนื่อง มองว่าควรจูงใจให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านเงินกระเป๋า 2 มากขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับความสนใจดีเท่าที่ควร

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในขณะนี้ที่การพิจารณางบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ประเมินว่าหากการประชุมครั้งนี้ร่างงบฯยังไม่ผ่าน จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอย่างแน่นอน และจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศเองด้วย เพราะงบที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สามารถออกมาได้ โดยหากไม่สามารถอนุมัติงบฯออกมาได้ และเกิดการยุบสภาขึ้น ก็จะทำให้งบล่าช้าออกไปอีกสักระยะ เพราะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และนำร่างงบมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง โดยประเมินว่าหากงบล่าช้าถึง 9 เดือนขึ้นไปนั้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศโดยตรง ทำให้มีโอกาสที่จีดีพีไทยจะโตได้ไม่ถึง 2.5% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งบประมาณปี 2563 ล่าช้าแล้วกว่า 4 เดือน แต่ยังถือว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image