บล.ไทยพาณิชย์ชี้ เป้าดัชนีสิ้นปี’62 ขึ้นได้ดีสุดแค่ 1,700 จุด

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บรัษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในสิ้นปี 2562 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,600-1,700 จุด ในขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวแกว่งตัว ตามสถานการณ์ตึงเครียดของปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) และการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะต่ำสุดในไตรมาส 4 รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ทำให้ในช่วงนี้นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูทิศทางผลประกอบการบจ.ก่อน ทำให้ดัชนีปัจจุบันไม่ได้เคลื่อนไหวขึ้นหรือลงแรงมากนัก โดยประเมินว่าปี 2563 ดัชนีจะขึ้นถึง 1,800 จุด ได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ดีขึ้น และผลประกอบการภาคธุรกิจจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 5-10% จากเดิมที่ปี 2562 โตเพียง 2-3%

“หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น ก็คาดว่าจะไม่รุนแรงเท่าปี 2551 เพราะรัฐบาลของประเทศใหญ่ๆ เตรียมตัวรับมือไว้แล้ว โดยหากเกิดขึ้นจริง มองว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากภาคการส่งออกที่จะหดตัวลงมากกว่าเดิม แต่จะไม่ได้รับผลกระทบตรงๆ แรงๆ แน่นอน พร้อมทั้งมองว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ ตามทิศทางของดอกเบี้ยขาลง แต่ยังคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ดูดี หากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เงินเฟ้อต่ำ ทำให้อัตราผลตอบแทนที่ยังสูง ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม โดยต้องติดตามในเรื่องของการผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไปมากกว่า”นายสุกิจกล่าว

นายสุกิจกล่าวว่า ส่วนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ในวันที่ 17-18 ตุลาคม นี้ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อจะได้มีงบประมาณมาดำเนินนโยบายต่างๆ ในปี 2563 รวมทั้งเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย โดยปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกว่าเมื่อปี 2543 และปี 2549 แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รับมือได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 5 ครั้งนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ จะยังคงขยายตัวจนถึงปี 2563 แต่จะปรับตัวแย่ลงในปี 2564 และเข้าสู่ภาวะถดถอยปี 2565 และเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟด รวมถึงสงครามการค้าที่ลดระดับความร้อนแรงลง อาจจะทำให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับเพิ่มขึ้นด้วย

นายสุกิจกล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4 ปีนี้ แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า และความต้องการซื้อชะลอตัวลง โดยให้หันมาเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูง และปลอดภัยสูงแทน เพราะหุ้นตัวเล็กอาจจะถือลำบาก เนื่องจากแก่วงตัวสูงได้

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image