เตือนเช็กระเบียบใหม่ตุรกี ใช้ระบบการตรวจออนไลน์ผลิตภัณฑ์จากพืชหรือสัตว์

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย แจ้งว่า กระทรวงเกษตรและป่าไม้สาธารณรัฐตุรกีได้เปิดใช้งานระบบการตรวจสอบออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชหรือสัตว์ที่นำเข้าหรือผ่านทางไปสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ https://hbs.tarbil.gov.tr/web โดยในส่วนของการนำเข้าสามารถใช้งานระบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 และในส่วนของการนำผ่านจะสามารถใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป นายวันชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและป่าไม้สาธารณรัฐตุรกี ยังได้ออกระเบียบควบคุมสินค้า “gelatin capsule” นำเข้าที่มีส่วนประกอบของพืชหรือสัตว์ โดยหากผลิตมาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องที่ได้มาจากเนื้อเยื่อหรือกระดูก นอกเหนือจากหนัง/ผิวหนัง จะต้องขออนุญาตนำเข้าภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ผู้ส่งออกจะต้องแสดงใบรับรองว่า เจลาตินในสินค้า “gelatin capsule” ที่ผลิตในประเทศผู้ส่งออกใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์ที่เลี้ยงภายในประเทศผู้ส่งออกหรือมาจากแหล่งที่ปลอดจากโรคระบาดตามประกาศขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (WorldOrganization for Animal Health หรือ Office International des Épizooties : OIE) และเป็นไปตามข้อกำหนดของสาธารณรัฐตุรกี รวมทั้งข้อกำหนดของ EU Regulation (EC) No.999/2001 ด้วย 2. ผู้ส่งออกจะต้องแนบเอกสาร 2 ฉบับ ในการนำเข้าสินค้า “gelatin capsule” มายังสาธารณรัฐตุรกีประกอบด้วย 1. เอกสาร “Declaration of Competent Authority” ที่สำแดงว่าเป็นประเทศที่ถูกควบคุมหรือมีความเสี่ยงเป็นโรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalopathy : BSE) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.เลขที่ของใบรับรอง “gelatin capsule” ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมายังสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งมีการตรวจสอบแล้วว่าปลอดโรค 2. ระบุประเทศแหล่งกำเนิด/ประเทศทางผ่านที่ถูกควบคุมหรือกลุ่มประเทศในโซนพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงจากโรควัวบ้าที่ควบคุมได้ (Controlled BSE Risk) เช่น แคนาดา สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สาธารณรัฐนิการากัว เป็นต้น หรือกลุ่มประเทศในโซนพื้นที่ที่ยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงจากโรควัวบ้า (Undetermined BSE risk) จะต้องมีการตรวจโรคก่อนฆ่าและการตรวจซากเครื่องในภายหลังการฆ่า 3. ขั้นตอน/กระบวนการผลิตจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง นอกเหนือจากหนัง/ผิวหนัง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ประกอบด้วย การสกัดไขมัน การสลายแร่ธาตุในสภาวะกรด การทำให้เป็นกรดหรือด่าง การกรอง และการฆ่าเชื้อโรค โดยจะต้องผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ ≥ 138 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วินาที (หรือกระบวนการที่เทียบเท่า)  นายวันชัย  กล่าวว่า ส่วน 2.2 เอกสาร “Manufacturer Declaration” เป็นเอกสารที่สำแดงว่า gelatin capsule ที่ผลิตมาจากสัตว์ ต้องไม่ใช่วัตถุดิบที่ทำมาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง นอกเหนือจากหนัง/ผิวหนัง และต้องไม่มีส่วนประกอบและไม่เป็นวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงจำเพาะต่อโรควัวบ้า (Specified Risk Material : SRM) ตามที่กำหนดไว้ใน EU Regulation (EC) 999/2001 นายวันชัยกล่าวว่า เจลาตินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสลายคอลลาเจนด้วยกรดหรือด่างมีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลอ่อน สามารถสกัดได้จากกระดูกหรือหนังสัตว์ (เช่น วัว กระบือ) โดยสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น เครื่องสำอาง ยา อาหาร และฟิล์มถ่ายรูป โดยในทางเภสัชกรรมใช้เจลาตินเพื่อประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ สารเคลือบ (coating agent) สารก่อเจล (gelling agent) สารช่วยยึดเกาะในยาเม็ด (tablet binder) สารเพิ่มความหนืด (viscosity-increasing agent) เป็นต้น และนิยมนำมาผลิตเป็นแคปซูล 2 ประเภทได้แก่ 1. แคปซูลเจลาตินชนิดแข็ง (hard gelatin capsule) มักใช้ในประเภทยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักเสบ และ 2. แคปซูลเจลาตินชนิดนิ่ม (soft gelatin capsule) มักใช้บรรจุตัวยาที่ไวต่ออากาศและแสง เช่น น้ำมันตับปลาและวิตามินต่างๆ ซึ่งยารูปแบบนี้จะออกฤทธิ์ได้ไวกว่ายาที่บรรจุแคปซูลชนิดแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image