กลุ่มเกษตรกร​ประสานเสียงคัดค้านเลิก3สารเคมี เอกชนขอเพิ่ม 2 ปีจัดการสต๊อก

กลุ่มเกษตรกร​ ประสานเสียงคัดค้านมติยกเลิก 3 สารเคมี ด้านเอกชนขอยืดเวลาเพิ่ม 2 ปี จัดการสต๊อกสินค้า

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมติของคณะกรรมการ​ร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่ต้องการให้ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และจะนำเข้าเสนอต่อคณะกรมการวัตถุอันตรายนั้น ทางเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก เล็งเห็นว่ายังมีหลายประเด็นที่ยังมีการพิจารณาไม่ครอบคลุม จึงขอคัดค้านมติดังกล่าว โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขาดความชอบ มีแต่กรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกและไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าอย่างครบถ้วน

นายมนัส กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการให้ทบทวนการพิจาณามติยกเลิกโดยให้ใช้ข้อเท็จจริงข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าการใช้ข้อมูลบิดเบือนจากองค์การนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ)​ ที่อ้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา และข้าวโพด เป็นต้น ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติและราคาเทียบเท่ามาทดแทนได้ โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอต ดังนั้นหากจะแบนการใช้ทันที ก็ควรหาสารอื่นมาทดแทนให้ได้ก่อน และต้องมีราคาที่เหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรที่ใช้อยู่จริง

“หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบน 3 สารเคมี ทางกลุ่มฯจะเดินหน้ายื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองทันที ให้คุ้มครองชั่วคราว เพราะเชื่อว่าข้อมูลจากเอ็นจีโอ แจ้งออกมาเป็นเท็จและกระทบกับเกษตรกรส่วนมากในไทย” นายมนัสกล่าว

Advertisement

นางวรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า รัฐควรให้ระยะเวลาทั้งเอกชนและเกษตรกรในการปรับตัวอย่างน้อย 2 ปี เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ทำ เนื่องจากการประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีทันทีในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ อาจทำให้เกิดความเสียหายในภาคเกษตร เนื่องจากยังไม่มีสารใดมาทดแทนสารเคมีที่ถูกแบน รวมถึงไม่ให้ระยะเวลากับภาคเอกชนในการจัดการสต๊อกสินค้าที่ค้างเหลืออยู่รวมกว่า 4 หมื่นตัน ซึ่งหากรัฐต้องทำลายและขนย้ายสารเหล่านี้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 1 หมื่นล้านบาท และอาจต้องมีค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารดังกล่าวอยู่ประมาณ 1 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าตันละ 5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นการสูญเสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกมาอย่างไร ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ทางสมาคมก็พร้อมยอมรับและปฏิบัติตาม แต่อยากให้พิจารณาอย่างรอบด้าน ด้วยเหตุและผลอย่างเหมาะสม ไม่ใช่อารมณ์ส่วนบุคคล หรือการตัดสินตามกระแสที่อาจไม่เป็นความจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image