แนะตั้งกก.นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

แนะตั้งกก.นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เดินหน้า3ภารกิจดันอีวีไทยไม่ตกขบวนโลก

นายสมชาย สาโรวาท ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายฯได้เข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ เพื่อขอให้เร่งรัดปรับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบแบบบูรณาการโดยตรง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ โดยเร็ว ไม่ทำให้เสียโอกาสอนาคตของประเทศ เบื้องต้นกระทรวงพลังงานเห็นด้วยและรับไว้พิจารณา และเพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกหน่วยงาน ควรจะมีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมีระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปได้

นายสมชายกล่าวว่า แนวทางนำเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การเร่งรัดและปรับนโยบาย แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปในเชิงรุก ปรับเวลา แผนส่งเสริมให้รวดเร็วขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานของโลก 2.จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแบบบูรณาการโดยตรง เพื่อ

กำหนดยุทธศาสตร์แผนงานเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และดำเนินการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งจัดทำโรดแมปควบคุม กำกับดูแล และประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน 3.เตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลง ในระยะเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานครั้งสำคัญ โดยมีแผนงานต่างๆ อาทิ การปรับเปลี่ยนแผนทางอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สอดคล้องสภาวะของโลกในระยะยาว ตลอดจนการจัดทำแผนเตือนล่วงหน้า ของภาครัฐและเอกชนในการให้ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริงทันเหตุการณ์แก่ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่องที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า

Advertisement

“ไทยควรมีหน่วยงานกลางสนับสนุนอีวี เพราะขณะนี้มีความเกี่ยวข้องอยู่ในหลายกระทรวงต่างคนต่างทำ ดังนั้นต้องบูรณาการ ขณะที่นโยบายก็ออกมานานตั้งแต่ปี 2559 จะผลิตรถอีวี 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 จะไม่ทันประเทศอื่น เพราะจีนเข้ามาตีตลาดแล้ว นอกจากนี้ต้องทำให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีแผนรองรับชัดเจนว่าจะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร ปีไหน”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลควรจะจัดหาให้มีเพียงพอ โดยเฉพาะสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ปัจจุบันไม่เพียงพอทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจที่จะผลิตจำหน่ายและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญราว 30% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน ,โรงประกอบรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการเกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมาตรการอื่น ๆ อาจจะยังไม่จูงใจพอ หรืออาจล่าช้าเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image