พ้นยุค “รัฐประหาร” อียูปลดล็อกไทย

พ้นยุครัฐประหารž
อียูปลดล็อกไทย

สัญญาณดีจากมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ไฟเขียวกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐกับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น

เป็นความคืบหน้าเชิงบวกภายหลังการเลือกตั้ง จากกว่า 5 ปีของรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 อียูซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ คู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเป็นนักลงทุนลำดับ 2 ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย ระงับการมาเยือนอย่างเป็นทางการ สะเทือนไปถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

การลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership & Cooperation Agreement; PCA) การเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู ต้องหยุดชะงัก

Advertisement

มติของอียูล่าสุด ช่วยให้ผลกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ความไม่คล่องตัวของภาคส่งออก ลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว ได้รับการปลดล็อก เกิดความลื่นไหลยิ่งขึ้น

ความคาดหวังของกระทรวงพาณิชย์ในการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คือจะเป็นโอกาสขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน

รวมไปถึงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วงชิงความเสียเปรียบการแข่งขันกลับคืนมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่อียูเดินหน้าข้อตกลงเอฟทีเอกับหลายประเทศไปเรียบร้อย อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย

Advertisement

ยกระดับความสัมพันธ์ครั้งนี้ จะช่วยผ่อนคลายปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยเผชิญอยู่ขณะนี้ ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว อย่างไร มาทันเวลาหรือไม่ ในความเห็นของ อัทธ์ พิศาลวานิชŽผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการที่สหภาพยุโรป (อียู) จะมีการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในทุกด้านทุกมิติ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งระดับรัฐบาล การพัฒนาศักยภาพของคน การให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสนับสนุน อาทิ ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ รวมทั้งการค้าและการลงทุนด้วย

โดยเชื่อว่าจะสามารถเจรจาการค้าและทำข้อตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกันได้ หลังจากหยุดชะงักไปในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าประเทศไทยเสียเปรียบเวียดนาม ในด้านของการที่เวียดนามมีการทำเอฟทีเอกับยุโรปไปก่อนหน้านี้ ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากยุโรปมากกว่าประเทศไทย และเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับยุโรปเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยถึงแม้จะช้ากว่าแต่ก็ดีกว่าที่จะไม่เกิดขึ้นเลย
โดยมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะทำเอฟทีเอร่วมกับยุโรป โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีการถอนตัวออกจากยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ทำให้ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ทำข้อตกลงกับยุโรปได้เพียงประเทศเดียว แต่สามารถทำกับอังกฤษได้ด้วย เพราะการที่อังกฤษจะขอแยกตัวออกจากยุโรปก็คงมีความต้องการในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศด้วยอย่างแน่นอน

ประเมินว่า หากไทยทำเอฟทีเอกับยุโรปสำเร็จ จะเป็นผลเชิงบวกกับภาคการส่งออกไทย เพราะปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกไปตลาดยุโรป 10% ของภาพรวม

ขณะที่ สุพันธุ์ มงคลสุธีŽ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.ได้สำรวจความคิดเห็นของ 13 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เครื่องสำอาง น้ำตาล เยื่อและกระดาษ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เคมี ยา ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ อาหาร ต่อผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอไทย-อียูได้ข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากการได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ

กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่ขัดข้องที่จะมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คือ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ส่วนกลุ่มที่ไม่พร้อมที่จะมีการเจรจาเอฟทีเอคือ เยื่อและกระดาษ เหล็ก

เมื่อถามถึงโอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากอียู นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ให้ความสนใจหากอียูมาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มยาเสนอให้เจรจากับสหภาพยุโรปเป็นไปตามความตกลง ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ หากมีความร่วมมือระหว่างไทยและอียู ก็ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งจัดตั้งห้องทดสอบในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี เพื่อลดต้นทุนในการส่งไปทดสอบที่สหภาพยุโรป
นายสุพันธุ์กล่าวด้วยว่า จากความกังวลจากเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายวงกว้าง

ขณะที่เงินบาทไทยยังคงยืนแข็งค่าเป็นอันดับต้นของภูมิภาค จะยิ่งทำให้การส่งออกปีนี้ถดถอยมากขึ้น
ดังนั้น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป

จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หากการเจรจาบรรลุผลสำเร็จลงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image