“โคราช”ยังไม่พ้นวิฤตภัยแล้ง สถานการณ์น้ำน่าห่วง เหลือใช้ได้แค่ 36% ชลประทานจังหวัดฯเร่งปรับแผนบริหารจัดการน้ำ

นครราชสีมา (โคราช) นายกิติกุล เสภาศรีราภรณ์ ชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมาในห้วงฤดูหนาวปีนี้ พบว่าปริมาตรน้ำปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 485.90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 39.94% แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 423.42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.68% เท่านั้น ซึ่งปีที่แล้วในห้วงเวลาเดียวกันมีปริมาตรน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 791.83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65.08% และเป็นน้ำใช้การได้ 729.35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63.19% จะเห็นได้ว่า ปริมาตรน้ำคงเหลือปีนี้ลดต่ำลงถึงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยอ่างเก็บน้ำ 18 แห่งจากทั้งหมด 27 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาตรน้ำปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำกักเก็บน้อยที่สุด ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองกก อำเภอพระทองคำ

สำหรับปริมาตรน้ำกักเก็บปัจจุบันใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาตรน้ำคงเหลือทั้งหมด 179.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57.16% เป็นน้ำใช้การได้ 157.02 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.82% , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาตรน้ำคงเหลือ 37.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24.27% เป็นน้ำใช้การได้แค่ 36.89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.91% เท่านั้น , อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาตรน้ำคงเหลือ 54.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.73% เป็นน้ำใช้การได้ 47.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.53% และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาตรน้ำคงเหลือ 114.73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 41.72% เป็นน้ำใช้การได้ 107.73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.20% ขณะที่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางเหลือน้ำรวม 99.20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.95% และเป็นน้ำใช้การได้ 74.16 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.42%

Advertisement

นายกิติกุล กล่าวว่า ชลประทานจังหวัดนครราชสีมาจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างบริหารจัดการน้ำใหม่ ด้วยการเติมน้ำที่หลากลงในแหล่งกักเก็บน้ำของแต่ละพื้นที่ และระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเตรียมรับภัยแล้งติดต่อเข้าสู่ปีที่ 3 พร้อมกันนี้ ได้วางท่อสูบน้ำจากแม่น้ำชีเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำสำหรับอำเภอที่มักจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอคง, อำเภอห้วยแถลง และอำเภอแก้งสนามนาง เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคให้กับประชาชน ซึ่งห้วงที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมาประสบสถานการณ์ฝนแล้งหลายพื้นที่ โดยได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย สถานการณ์ฝนแล้ง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฯ เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝนแล้งรวม 29 อำเภอ 246 ตำบล 3 ทต. 2,998 หมู่บ้าน 690,500 คน 410,380 ครัวเรือน และมีพืชไร่ 3,148,619.72 ไร่ กับพืชสวน 41,963 ไร่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ อำเภอห้วยแถลง โนนสูง ครบุรี โนนแดง ปักธงชัย พระทองคำ เมืองนครราชสีมา เมืองยาง จักราช คง พิมาย ชุมพวง หนองบุญมาก ขามทะเลสอ ด่านขุนทด สูงเนิน บ้านเหลื่อม ขามสะแกแสง โนนไทย ลำทะเมนชัย ประทาย บัวใหญ่ แก้งสนามนาง เฉลิมพระเกียรติ บัวลาย โชคชัย เทพารักษ์ สีคิ้ว และอำเภอสีดา

Advertisement

ทั้งนี้ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ฝนแล้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และดำเนินการชดเชยให้กับเกษตรกร ตามมาตรการต่างๆ จังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว 16 อำเภอ จากทั้งหมด 29 อำเภอ 226 ตำบล 2 ทต. 39 ชุมชน 3,000 หมู่บ้าน ที่เหลือ 13 อำเภอกำลังเร่งดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image