สรรพสามิตเผย ‘ขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’เค็มเเกินมาตรฐาน 60%  เร่งสรุปเก็บภาษีปลายปีนี้

 

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และภาคเอกชน โดยเบื้องต้นกำหนดเก็บภาษีความเค็มจากปริมาณโซเดียม(เกลือ) ที่ใช้ปรุงรสชาติ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ผงปรุงรสเป็นต้น ส่วนพวกน้ำปลา ซีอิ้ว จะไม่ถูกจัดเก็บภาษีเพราะถือเป็นเครื่องปรุงรส โดยจะเร่งสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มให้ชัดเจนภายในปีนี้

นายณัฐกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังสรุปว่าจะกำหนดความเค็มคนไทยควรบริโภคเท่าใด มีบางหน่วยงานเสนอ ใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัม(มก.)ต่อวัน ในขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดค่าโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก.ต่อวันเท่านั้น ซึ่งถ้าอิงตาม WHO ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มก.ต่อมื้อ แต่ปัจจุบันคนไทยได้รับค่าโซเดียมเกินกว่าที่ WHO กำหนด โดยได้รับโซเดียมถึงมื้อละ 1,000 มก.หรือวันละ 3,000 มก. ถือว่าเกินมาตรฐาน

“อาหารและเครื่องดื่มในไทยส่วนมาก มีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน สมมติ ถ้ามีอาหาร 100 ถุง ในจำนวนนี้จะมีค่าโซเดียมเกินกว่าที่ WHO ไว้กว่า 60% หรือ 60 ถุง ซึ่งการจัดเก็บภาษีความเค็มรัฐบาลไม่ได้มุ่งเรื่องจัดเก็บรายได้ แต่อยากให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียม เพื่อให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่มีประโยคต่อสุขภาพ ทั้งนี้ WHO ระบุว่า แค่ลดปริมาณโซเดียมในอาหารลง 20-30% ก็ลดปริมาณความเสี่ยงจากการเป็นโรค เช่น ไตวาย ความดัน เป็นต้น ได้ถึง 30-40%”นายณัฐกรกล่าว

Advertisement

นายณัฐกรกล่าวว่า สำหรับโซเดียม ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.โซเดียมที่ใช้ยืดระยะเวลาอาหารและสินค้า เช่น การถนอมอาหาร เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน และ2.โซเดียมที่ใช้ปรุงรสชาติ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีที่ใช้ปรุงรสชาติที่ทำให้เกิดความเค็มเท่านั้น เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ลงไปอาหารหรือสินค้าก็ได้ ส่วนการถนอมอาหารจะไม่มีการเก็บภาษี เพราะใช้โซเดียมปริมาณน้อย

นายณัฐกรกล่าวว่า นอกจากนี้กรมสรรสามิตกำลังหารือทางอย.เพราะฉลากทางเลือกสุขภาพ( Healthier Logo) ที่อย.ผลิตออกมานั้น วัดค่าความเค็มจากค่าเฉลี่ยโดยรวมไม่ได้อิงมาตรฐานของ WHO ที่กำหนดให้ต่อวันควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม เนื่องจากยังคำนึงถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมอยู่หากมีการลดโซเดียมมากเกินไป จึงอาจทำให้สินค้าที่ติดโลโก้เหล่านี้มีค่าความเค็มในสินค้าสูงอยู่

“หามีการจัดเก็บภาษีความเค็มจะต้องให้เวลาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปรับตัวราว 1-2 ปีก่อน โดยกรมสรรสามิตต้องหาแนวทางจูงใจให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารและสินค้าให้มีค่าความเค็มลดลง โดยที่ไม่กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขัน”นายณัฐกรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image