ส่องช่องทาง ‘ที่พักใจ-พึ่งได้’ ผู้ถูกกระทำความรุนแรง

ภาพประกอบ
ภาพประกอบ

ส่องช่องทาง ‘ที่พักใจ-พึ่งได้’ ผู้ถูกกระทำความรุนแรง

จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ในปี 2560 พบว่า มีความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว มากถึงร้อยละ 34.6 โดยพบว่าความรุนแรงในครอบครัวทางด้านจิตใจสูงสุด รองลงมาคือ ความรุนแรงทางกายและทางเพศ

โดยพบอีกว่าส่วนใหญ่ของคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงไม่ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงาน ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัว อาย และไม่เชื่อมั่นว่าหน่วยงานต่างๆ จะช่วยได้จริง

บนเวทีนำเสนอถอดบทเรียนกระบวนการคุ้มครองสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพ “เรื่องเล่าผู้ประสบความรุนแรง และคนทำงานคุ้มครองสิทธิ” โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ที่ ห้องวิภาวดี 1 โรงแรมปริ๊นส์ตัน พาร์ค ดินแดง จึงได้เปิดเวที ให้คนทำงานด้านนี้มาชี้ช่องทางให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรง ได้ก้าวเดินต่อไป โดยมีหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือได้ดังนี้

 

Advertisement

ด่านแรกที่ผู้ถูกกระทำ มักเลือกพึ่งพา ก็คือ “ตำรวจ”

พ.ต.ท.บัณฑิต คณาลัยวุฒิพงษ์ รองผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรสามควายเผือก เผยว่า ตำรวจถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

“ในการทำงานของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการสอบปากคำ ลงบันทึกประจำวัน ซึ่งตำรวจก็จะให้ความสำคัญ ในการสอบปากคำ จะมีนักสังคมสงเคราะห์ร่วมอยู่ด้วย อย่างที่ สน.จะพามาสอบที่ห้องของรองผู้กำกับเอง ไม่มีคนพลุกพล่าน เพื่อให้เขารู้สึกสบายใจ ลักษณะคำถามที่คาดคั้น หรือเชิงวิชาการก็จะตัดออกไป มีเฮฮาบ้าง ประคองอารมณ์ของเขา ให้ได้ประเด็นที่ต้องการเท่านั้น” พ.ต.ท.บัณฑิตกล่าว

Advertisement

 

อีกหนึ่งช่องทาง “ที่พึ่งได้” คือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300

นัยน์ภัค ชัยปัน เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ประจำศูนย์ เผยว่า คนที่โทรเข้ามาปรึกษาปัญหากับเรา ส่วนใหญ่ต้องการคนที่รับฟัง บางคนก็ไม่กล้าบอกใคร เจ้าหน้าที่จึงต้องรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้ตอบ อย่างคำแรกที่เราพูด ก็มีผลแล้ว เช่นหากเราถามชื่อ เขาก็อาจจะรู้สึกตกใจ ก็ควรเรียกเป็นคำอื่น และก็ต้องรู้จักทักษะการเปลี่ยนคำ เช่น เขาเล่าว่า “หนูถูกผัวตีมา” เราก็ไม่ทวนคำ เปลี่ยนเป็นความรุนแรงแทนบ้าง หรือใช้เป็นคำถามปลายเปิดว่า เล่าได้ไหมคะว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะช่วยให้เขาสบายใจขึ้น

“เรารับสายให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมง วันละ 300 สาย และยังรับไม่ทันอีก 400 สาย ทุกคนต้องเทรนมาเพราะการเข้าใจมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีการลงพื้นที่ ไปปฏิบัติหน้าที่ พบว่าส่วนใหญ่ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นแค่ฉาบหน้า ลึกไปกว่านั้นยังมีปัญหายาเสพติด ความไม่เข้าใจกัน ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนด้วย การช่วยเหลือต้องมีจรรยาบรรณ เป็นความลับของเขา และส่งต่อความช่วยเหลือให้สุด” นัยน์ภัคเผย

 

อีกแห่งหนึ่งคือ “บ้านพักฉุกเฉิน”

ณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระราชูปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำ ได้พักกายพักใจในบ้านพักฉุกเฉิน ก่อนออกไปมีชีวิตใหม่ เผยว่า การทำงานของเรา อยากให้ผู้ถูกกระทำ มั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง และอยากสู้ต่อ โดยเราดูแลฉันมิตร เช่น กินข้าวหรือยัง อดนอนไหม หาเสื้อผ้าให้ ก่อนสังเกตว่าเขาเป็นอย่างไร และค่อยๆ ดูแลเขา เรามีโรงเรียนทำใจ ที่มีนักสังคมสงเคราะห์มาช่วยกัน ให้คนที่เคยถูกกระทำได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เขาก้าวผ่านได้

ที่พักใจ ผู้ถูกกระทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image