ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า ‘พูดอะไรตามใจแป๊ะ’ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เสร็จสิ้นการนำเสนอญัตติงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปี 2563 วาระแรกด้วยคะแนนเสียง 251 โดยที่ฝ่ายค้านส่วนใหญ่งดออกเสียงและคัดค้านเพียงไม่กี่เสียง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวาระแรก

ระหว่างนี้ รัฐสภาปิดสมัยประชุมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาร่างงบประมาณในวาระสองที่สมาชิกแนะนำและซักค้าน เพื่อจะนำเข้ามาพิจารณาในวาระสามว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านต่อไป ทั้งยังให้สมาชิกรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่พิจารณาประชุมในเรื่องต่างๆ

ที่สำคัญคือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีเวลาออกไปเยี่ยมเยียนสอบถามสารทุกข์สุกดิบของราษฎร เพื่อจะนำมาให้สมาชิกทั้งหลายได้ทราบและนำเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่อไป

การมีรัฐสภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งก็ดี สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งก็ดี สภาจะได้เป็นสถานที่พูดจากันในเรื่องปัญหาและการแก้ปัญหาประเทศของประชาชน จะได้นำไปสู่ความสงบสันติสุขของประเทศ หรือนำไปสู่การสร้างความเข้าใจของประชาชนในชาติ

Advertisement

เช่นกรณีที่ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พูดจาปราศรัยเมื่อวันก่อนถึงเรื่องความมั่นคงของชาติในหลายกรณี ต้องไม่ลืมว่าผู้บัญชาการทหารบกเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสมาชิกตามตำแหน่ง หมดวาระเมื่อครบเกษียณราชการ หากจะมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่เป็นรายบุคคล หมายถึงสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งต้องหลุดจากตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภารายบุคคลได้

แต่ขณะนี้ เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา การที่จะพูดถึงเรื่องการบ้านการเมืองน่าไปพูดจาปราศรัยในที่ทำการรัฐสภาเมื่อมีการประชุมสมาชิก

การที่นำปัญหาการบ้านการเมืองออกมาพูดในที่สาธารณะเช่นที่ผ่านมา แม้จะเป็นการพูดจาปราศรัยในที่ประชุมที่มีตัวเองเป็นองค์ปาฐกก็ตาม หากมีการเอ่ยอ้างถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดหลายประการ จึงเป็นเหตุให้มีการพูดจาโต้ตอบจากผู้ที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงกระทั่งอาจนำไปสู่การตีความซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นไปตามความหมายของผู้ที่พูดจาโต้ตอบกันหรือไม่

การมีรัฐสภาให้เป็นที่พูดจาปราศรัย ถึงการลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายไปในทิศทางใด เป็นไปตามที่ให้ไว้กับประชาชนในการแถลงนโยบายกับรัฐสภาหรือไม่ และข้าราชการไม่ว่าจะเป็นใคร หรือหน่วยงานใด หากพูดจาปราศรัยในฐานะกลไกของรัฐจะกระทำได้หรือไม่ อย่างไร ยิ่งอาจเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับโยบายรัฐบาลจะกระทำได้มากน้อยเพียงใด

รัฐบาลและข้าราชการในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นรัฐบาลและข้าราชการในระบบเผด็จการ มาจากการยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของผู้ถืออาวุธ จึงมักใช้คำสั่งมากกว่าการประชุมปรึกษาหารือ หรือใช้มติเสียงข้างมากตัดสินปัญหา

ไม่ว่าใครก็ตาม โปรดอย่าลืมว่าประชาชนอดกลั้นอดทนใช้สติสัมปชัญญะรอเวลามานานถึงกว่า 5 ปี เพื่ออาศัยอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อให้มีรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งบริหารประเทศให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของประชาชนด้วยคะแนนเสียงประชาชน 1 คนต่อ 1 เสียง โดยเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ใครจะพูดจากล่าวหาว่าประชาชนคนใดคนหนึ่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยอำเภอใจคงไม่ได้

การปกครองของราชอาณาจักรไทยมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

ดังนั้น อำนาจนิติบัญญติ อำนาจบริหาร มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ

รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในอำนาจบริหารเป็นของรัฐบาล และอยู่ในอาณัติรัฐบาล

ข้าราชการไม่ว่าผู้ใดจะพูดจาอะไรขอให้ผ่านหัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภาพูดจาหรือนำเสนอเรื่องใดต้องผ่านประธานรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมขอรับกระผม

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image