พท.ยื่นกมธ.ท้องถิ่นฯ ปรับปรุงกฎหมายกทม. ให้คงสภาเขต เชื่อสข.ยังจำเป็น ชี้ครม.มีอำนาจเคาะวันเลือกตั้งอปท

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานภาคกทม.พร้อมด้วย นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย นายไพโรจน์ อิสระ เสรีพงษ์ อดีต ส.ส.กทม.นายประพนธ์ เนตรรังษี และนายณรงค์ รุ่งธนวงศ์ กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายวิชาญ กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนให้ความสนใจกับการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองต่างๆ ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้น คณะทำงานภาค กทม.พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้เร่งรัด ติดตาม การดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศกับทางกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้คงไว้ซึ่งสภาเขต และตำแหน่งสมาชิกสภาเขต(สข.) ซึ่งการคงไว้ซึ่งสภาเขตและสข.ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะสข.เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจและหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่และอำนาจหน้าของสข.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2562 แต่เมื่อพิจารณาดูจากบทเฉพาะกาลในมาตรา 142 ซึ่งบัญญัติไว้ว้า “ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่พ.ร.บ.นี้บังคับ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ…” ในวรรคท้ายของมาตรานี้ ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า “…ในกรณีที่ไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามวรรคหนึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี” จึงเห็นได้ว่าการจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ จะเร็วหรือช้าตามกฎหมายตอนนี้ต้องไปตามที่ครม.ว่าจะพิจารณาอย่างไร และหลายพรรคการเมืองก็มีการเตรียมความพร้อมกันอยู่แล้ว รวมทั้งขณะนี้การเลือกตั้งใหญ่ผ่านมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว

“ที่ประชุมภาค กทม. จึงขอเรียกร้องไปถึงครม.ให้พิจารณาให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เมื่อครม.พิจารณาแล้วจะได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อไป”นายวิชาญ กล่าว

ทั้งนี้คณะทำงานก็ได้ทำหนังสือ ในประเด็นสำคัญดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยจะนำไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image