สำรวจ…โรงตึ๊ง จับชีพจรเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนฐานราก

ที่ผ่านมาพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้เงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท ผ่านแพคเกจต่างๆ อาทิ แจกเงินค่าครองชีพเพิ่มขึ้นให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูงสุดรายละ 2,600 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกร ขยายเวลาชำระเงินกู้ลูกค้า ธ.ก.ส. สินเชื่อฉุกเฉิน แจกเงินท่องเที่ยว 1,000 บาท ให้คนที่มาลงทะเบียน 2 รอบ มากกว่า 10 ล้านคน และให้นำเงินท่องเที่ยวสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้ 15%

ถือเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือเกษตรกร ในขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับประโยชน์แตกต่างกัน คาดว่าผู้มีรายได้น้อยจะมีเงินจับจ่ายใช้สอย เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่สิ่งชี้วัดหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจฐานราก สภาพคล่องของครัวเรือน ว่าอยู่ดีมีสุขหรือไม่ สิ่งนั้นคือโรงตึ๊ง หรือโรงรับจำนำ แหล่งเงินช่วยเหลือคนระดับฐานรากที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน

จากการออกไปสอบถามโรงตึ๊ง สถานธนานุบาล สถานธนานุเคราะห์ เพื่อสำรวจถึงสถานะหนี้สินระดับครัวเรือนกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

Advertisement

นายชยเดช วรรณรัตน์ ผู้จัดการสถานธนานุบาล 1 (ท่าแพ) เทศบาลนครเชียงใหม่ เผยสถานการณ์ว่า การรับจำนำก่อนเปิดเทอม 2 ทรงตัว มีผู้ใช้บริการ 3,000 ราย/เดือน รับจำนำรวมมูลค่า 50-60 ล้านบาท/เดือน แต่มีทรัพย์สินจำนำรวมทั้งสิ้น 160-170 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทองรูปพรรณ 90% เครื่องใช้ไฟฟ้าและเบ็ดเตล็ด 10% เฉลี่ยรับจำนำรายละ 13,000-17,000 บาท แต่ได้เตรียมเงินรับจำนำ รวม 150 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อผู้ใช้บริการตลอดปี

“ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจทรงตัว ช่วง 3 ไตรมาสแรก ยอดผู้ใช้บริการและรับจำนำใกล้เคียงปีที่แล้ว ส่วนไตรมาสสุดท้ายแนวโน้มผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากใกล้เปิดเทอม 2 ประกอบกับประชาชนหันมาใช้บริการโรงจำนำของท้องถิ่นมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นอกระบบ หากจำนำไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์/เดือน ถ้าเกิน 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท/เดือน ซึ่งเริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้นปีที่ผ่านมา”

ส่วนทรัพย์สินที่หลุดจำนำหรือไม่ไถ่ถอนคืน มีไม่ถึง 1% บางเดือนหลุดจำนำเพียง 0.2-0.3% เท่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ต่อดอกเบี้ยและไถ่ถอนคืนเกือบหมด เนื่องจากรับจำนำทองรูปพรรณ 80% ของมูลค่า ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและเบ็ดเตล็ด รับจำนำเพียง 50% ของมูลค่า ขึ้นอยู่กับสภาพทรัพย์สินที่รับจำนำด้วย

Advertisement

ด้าน นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทางเทศบาลนครนครราชสีมาจึงได้อัดฉีดเงินให้กับสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำของเทศบาลนครนครราชสีมาทั้ง 3 แห่ง รวมกว่า 150 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับให้ประชาชนนำทรัพย์สินมาจำนำแลกเปลี่ยนเป็นเงินไปใช้จ่าย พร้อมกันนี้ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วงก่อนเปิดภาคเรียน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดสถิติผู้ใช้บริการแม้ว่าจะลดลงเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นผลมาจากการผลักดันนโยบาย หรือมาตรการต่างๆ ช่วยลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยังคงชะลอตัว ประกอบกับค่าครองชีพสูง เกิดภัยแล้ง สาธารณภัยต่างๆ ล้วนเป็นผลพวงทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ สถานธนานุบาลจึงเป็นที่พึ่งสำคัญที่ประชาชนเลือกใช้บริการเมื่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ นายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานธนานุบาลของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ได้เตรียมเงินไว้บริการประชาชน จำนวน 10 ล้านบาท โดยดอกเบี้ยเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท จะคิดในอัตราร้อยละ 0.50 บาท ส่วนเงินต้นมากกว่า 5,000 บาทขึ้นไป จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ทำให้มีพี่น้องประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าโรงรับจำนำของภาคเอกชน เรื่องมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผลักดันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ตนมองว่ายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่สามารถเติมเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชนได้ตามเป้าหมาย ยอดประชาชนมาใช้บริการที่สถานธนานุบาลของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมแห่งนี้จึงยังมากเหมือนเดิม ไม่ได้ลดลง

ขณะที่ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เทศบาลได้เงินทุนสำรองเหลือ 30 ล้านบาท จากยอดรับจำนำทั้งปีรวม 96 ล้านบาท สำหรับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันหากยอดเงินไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน หากเกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท ซึ่งมีอัตราที่ต่ำกว่าของภาคเอกชน ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีนโยบายขยายเวลาการไถ่ถอนทรัพย์หลุดจากเดิม 5 เดือน เป็น 6 เดือน เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้รับจำนำสามารถหาทุนไปไถ่ถอนได้ทันตามกำหนดจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่ทรัพย์ที่นำมาจำนำจะเป็นทองรูปพรรณ

นายกันติพัฒน์ กัญจณสิริ ผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ 37 (โรงรับจำนำของรัฐสาขาสุราษฎร์ธานี) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจในการรับบริการเป็นจำนวนมาก โดยปีนี้ทางสถานธนานุเคราะห์โรงรับจำนำของรัฐที่ตั้งเป้าไว้ 165 ล้านบาท แต่ยอดการรับจำนำทะลุ 187 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุปัจจัยหลักเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจทำให้ประชาชนสนใจนำสิ่งของที่มีมาฝากไว้กับสถานธนานุเคราะห์โรงรับจำนำของรัฐ เพราะมีความเชื่อมั่นในการประเมินราคา ให้ความยุติธรรมและเก็บสิ่งของเป็นอย่างดี

“สิ่งของที่นำมาจำนำร้อยละ 80 เป็นทองคำรูปพรรณ อีกร้อยละ 20 เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือทางการเกษตร กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนและใกล้ถึงช่วงเวลาเปิดเทอม ผู้ปกครองต่างมาใช้บริการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบุตรหลานด้วย” นายกันติพัฒน์ระบุ

ถือเป็นการตรวจวัดชีพจรทางเศรษฐกิจ ตรวจ สำรวจกระเป๋าของชาวบ้านภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยอย่างแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image