สถานีคิดที่ 12 : บทเรียนอนาคตใหม่ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ปัญหาต่างๆ กำลังรุมเร้าพรรคอนาคตใหม่

ทั้งกรณีแพ้ศึกเลือกตั้งซ่อมนครปฐม กรณี “งูเห่าสีส้ม” ซึ่งโหวตสวนมติพรรค ทั้งแบบชัดๆ และเนียนๆ หรือกรณีความเห็นต่างในพรรค จนนำไปสู่ภาวะขอแยกตัวของสมาชิกบางส่วน

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับสาม กำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตหรือไม่?

ต่อคำถามนี้ เราน่าจะลองเทียบเคียงประสบการณ์ในขวบปีแรกภายหลังการลงเลือกตั้งครั้งแรก ของพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทย

Advertisement

ประมาณ 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 2544 ที่พรรคไทยรักไทยประสบชัยชนะได้จัดตั้งรัฐบาล

“กรรณิกา ธรรมเกษร” ส.ส.กทม. ของไทยรักไทย ในขณะนั้น ถูก กกต. สอย จนได้รับใบเหลือง และเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม กรรณิกาก็พลาดท่าพ่ายแพ้ให้แก่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” นักการเมืองหน้าใหม่จากประชาธิปัตย์ (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รมว.ดิจิทัลฯ และเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ)

ขณะเดียวกัน เพียงไม่กี่เดือนหลังการตั้งรัฐบาล บุคลากรระดับครีมของพรรคไทยรักไทย ผู้ไม่ได้มีบุคลิกเป็นนักการเมือง-นักเลือกตั้งแบบเดิมๆ อย่าง นพ.เกษม วัฒนชัย ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เพราะปัญหาความแตกต่างทางด้านแนวคิด-การทำงาน

แม้การเปรียบเทียบพรรคไทยรักไทย ณ ขณะนั้น กับพรรคอนาคตใหม่ ณ ขณะนี้ อาจไม่ถูกฝาถูกตัวเสียทีเดียว

แต่อย่างน้อยภาวะ “สะดุดล้ม” ในช่วงตั้งไข่ ก็มิได้ส่งผลให้ไทยรักไทยเสื่อมทรุดลงทันทีทันใด

ตรงกันข้าม อุปสรรคต่างๆ กลับทำให้ไทยรักไทยแข็งแกร่งขึ้นจนชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในปี 2548 (ก่อนจะเผชิญมรสุมต่อเนื่องด้วยปัญหาชุดอื่น)

บทเรียนของไทยรักไทยบ่งชี้ว่าเราไม่สามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่าอนาคตใหม่กำลังเดินเข้าสู่ทางตันหรือสภาวะล้มละลายทางการเมือง

กลับมาที่ปี 2562

การเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม อาจส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ต้องสูญเสีย ส.ส. ไปหนึ่งคน ด้วยสภาพการแข่งขันที่แตกต่างจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม

แต่หากคิดว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม คือ การเลือกตั้งทั่วไป อนาคตใหม่ก็ยังจะสามารถเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้เป็นกอบเป็นกำในบริบทของรัฐธรรมนูญ 2560

ขณะเดียวกัน เรื่องความแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ ส.ส.เขต-ส.ส.บัญชีรายชื่อ นักเลือกตั้ง-ปัญญาชน หรือความแตกต่างของอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกัน

ก็ถือเป็นปัญหาปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกพรรคการเมือง

ถ้ามองในมุมประชาชน ความไม่ลงรอยอันเกิดจากการที่นักการเมืองพรรคเดียวกัน ถกเถียงกันในเรื่องอุดมการณ์ นิยามความเป็นนักการเมือง-การทำงานการเมืองที่ดี

นั้นยังน่าสนใจกว่าการต่อรองเรื่องผลประโยชน์-เก้าอี้ตำแหน่งเพียงประการเดียว

แน่นอนว่ามีสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเรียนรู้

หลายเดือนที่ผ่านมา สังคมการเมืองไทยได้เปิด “รับฟัง” เสียงของอนาคตใหม่ในหลายกรรมหลายวาระ

ทว่าปฏิกิริยาจากเสียงส่วนน้อยในพรรค ปฏิกิริยาจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสนามเลือกตั้งซ่อมนครปฐม เขต 5 และการต่อสู้ด้วยฐานะเสียงข้างน้อยของสภา ในบางวาระ/ประเด็น ก็คือ สิ่งที่อนาคตใหม่พึงรับฟังและสรุปเป็นบทเรียนของตนเองเช่นกัน

อย่างไรก็ดี บทเรียนอนาคตใหม่ยังเป็นบทเรียนของสังคมการเมืองไทย ว่าสุดท้ายแล้ว กาลเวลาและระบบ-โครงสร้างทางการเมือง จะค่อยๆ ตบแต่งพรรคการเมืองพรรคหนึ่งให้เข้ารูปลงรอยกับบรรทัดฐานทางสังคมที่ดำรงอยู่ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่บุกเบิกขึ้นโดยพรรคการเมืองนั้น

การแพ้เลือกตั้งซ่อม, ความโดดเดี่ยวในสภา และความเป็นจริงทางการเมืองอีกชุดจากสมาชิกพรรคบางส่วน อาจแปรเปลี่ยนให้อนาคตใหม่เติบโตอย่างสอดคล้องกับบริบทไทยๆ ยิ่งขึ้น หรือมีขนาดเล็กเรียวลง

นี่คือวิธีการกล่อมเกลาทางการเมือง ที่ไม่ต้องอาศัยการเล่นงาน/ทุบทำลายกันด้วยกลไกนอกระบบ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ “ตายแล้วเกิดใหม่” ดังกรณีพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image