ส.อ.ท.ศึกษาผลกระทบจ้างงานปี63 อุตฯยานยนต์ไม่ปลดคนแต่ลดโอที

ส.อ.ท.ศึกษาผลกระทบจ้างงานปี63 อุตฯยานยนต์ไม่ปลดคนแต่ลดโอที

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลไปปรับทิศทางการดำเนินงาน นโยบาย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน)ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ที่เริ่มทยอยปิดโรงงานและบางส่วนเริ่มให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวเพื่อรอประเมินสถานการณ์คำสั่งซื้อบ้างแล้ว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปัจจุบันภาคส่งออกของไทยคิดเป็นถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งปี 2562 มีแนวโน้มชัดเจนว่าการส่งออกของไทยอาจติดลบประมาณ 2% ซึ่งมาจากผลกระทบหลักจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนีเติบโตลดลง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้า ส่งผลต่อการส่งออกของไทย และสะท้อนต่อภาคการผลิตที่มีคำสั่งซื้อลดต่ำลง สะท้อนต่อไปยังการลดต้นทุนด้านแรงงานจากมาตรการขนาดเบาก่อน อาทิ ลดเวลาทำงาน หยุดชั่วคราว หากส่งออกยังคงไม่มีปัจจัยดีขึ้น จะนำไปสู่การปิดโรงงานในที่สุด

นายเกรียงไกรกล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะได้รับผลกระทบมากสุดมากน้อยต่างกันไป ดังนั้นการปิดโรงงานอาจมีบ้างแต่ไม่เห็นมากในปี 2562 สิ่งที่ต้องติดตามคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีการเจรจานำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบกรณีอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)หรือ เบร็กซิท หากไม่มีประเด็นลบ ปี 2563 ก็อาจเห็นทิศทางกลับมาเป็นบวก

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญต่อการจ้างงานคือการขยายการลงทุนในประเทศ ขณะนี้พบว่าการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยมีอัตราลดต่ำลงมากกว่าการส่งออก ชี้ให้เห็นถึงการไม่ลงทุนเพิ่มของภาคการผลิต จึงส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานใหม่ที่จะไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้หลายธุรกิจลงทุนปรับเครื่องจักรที่มีต้นทุนนำเข้าถูกลง เพื่อทดแทนแรงงานคนที่ยังคงขาดแคลนช่างฝีมือ และปัจจุบันไทยมีทิศทางค่าแรงสูงขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า จากการปรับลดประมาณการผลิตรถยนต์ปี 2562 ใหม่อยู่ที่ 2 ล้านคัน ลดลง 1.5 แสนคัน จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน ต่ำกว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2561 ที่ผลิตได้ 2.16 ล้านคัน จะมีผลกระทบต่อคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ฯให้ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ได้รับกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ลดต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

“ตลาดโลกซบเซาจากผลกระทบของสงครามการค้าทำให้การบริโภคของตลาดรถยนต์โลกรวม 4 เดือนแรกปีนี้ลดลง 5.7% เกิดผลกระทบทั้งส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนให้ลดลงตาม ทางอุตฯยานยนต์ยังหวังว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนจะหาข้อยุติสงครามการค้าในทิศทางที่ดีได้ในระยะต่อไป ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศยังไม่มีแผนเลิกจ้าง มีเพียงแต่เลิกการทำงานล่วงเวลาหรือโอทีเท่านั้น”นายสุรพงษ์กล่าว

Advertisement

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อชิ้นส่วนฯลดลง 5-10% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตปี 2552 ปัจจัยหลักมาจากคำสั่งซื้อและยอดขายในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงจากผลกระทบสงครามการค้า หากสงครามการค้าคลี่คลายลงมั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้น ช่วยประคองสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image