คลังหั่นคาดการเศรษฐกิจปี’62 เหลือ 2.8% ปีหน้าโต 3.3% เกาะติดสหรัฐตัดจีเอสอี

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% (มีช่วงคาดการณ์ 2.6-3.0%) ส่วนส่งออกคาดว่าจะติดลบ 2.5% (ช่วงคาดการณ์ -2.7 ถึง -2.3%) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ว่าเศรษฐกิจจะโต 3% ส่งออก -0.9%  ส่วนในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 3.3% ส่งออกขยายตัว 2.6%

ทั้งนี้เศรษฐกิจในปี 2562 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวลง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA) สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี

นายลวรณกล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 1 และ 2 ทำให้มีเม็ดเงินลงไปในระบบแล้วกว่า 6.4 หมื่นบาท เช่น โครงการชิมช้อปใช้เฟส 1 และเฟส 2 ทำให้เม็ดเงินลงไปในระบบแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท  มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)โอนเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 3.4 หมื่นล้านบาท

นายลวรณกล่าวต่อว่า  ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.1% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.6% การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ยังไม่รวมมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์( ธอส.) 5 หมื่นล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2563

Advertisement

นายลวรณกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่ามีขยายตัว 3.3%  มีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8 – 3.8%  โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ในช่วงต้นปีหน้า และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ

นายลวรณกล่าวว่า กรณีสหรัฐตัดจีเอสพีไทยนั้นคงต้องติดตามว่าเอกชนจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐไว้ได้เท่าเดิมหรือไม่ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเมินไว้ 4 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินของสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นต้นทันเพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านบาท โดยยังมีเวลาที่จะเจรจากับสหรัฐอีก 6 เดือน โดยในปีหน้า ซึ่งคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่อง สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image