เอกชนหวังมาตรการกระตุ้นศก. แพคเกจหนุนท่องเที่ยว ฟื้นกำลังซื้อค้าปลีก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ไตรมาส 3/2562 จากผู้ประกอบการ 92 ราย ช่วงวันที่ 23 กันยายนถึง 18 ตุลาคม 2562 พบว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่สม การส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อยุติ รวมถึงความขัดแย้งของประเทศ คู่ค้าโดยเฉพาะการประท้วงในฮ่องกง และการท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การบริโภคไม่ขยายตัว ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ Modern Trade ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.0 ซึ่งเป็นดัชนีต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส แต่สิ่งที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการค้าปลีกยังมีกำไรและคนซื้อเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยทั่วประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.4 และเชื่อว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ไตรมาส 4/2562 จะเห็นว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากฤดูกาลท่องเที่ยวกำลังมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการประกันรายได้เกษตรกรเริ่มขับเคลื่อนและมีโครงการของรัฐบาลที่กำลังผลักดันออกมา อีกทั้งคนมั่นใจว่างบประมาณปี 2563 ผ่านวาระแรกไปแล้วทำให้คนมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้น เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบ 3-3.5 % ได้ และทำให้ครึ่งปีหลังของเศรษฐกิจโตขึ้นได้ 3% ส่วนทั้งปีนี้น่าจะทำให้โต 2.8% สอดคล้องกับการประเมินของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)

“ส่วนปี2563คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าเริ่มดีขึ้น และเบร็ทซิทมีสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ทางศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ไปแล้ว จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกมีความมั่นใจ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาสที่ 4”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ การกระตุ้นกำลังซื้อครัวเรือน การลดข้อจำกัดในการใช้บริการมาตรการชิมช้อปใช้ เช่น การเพิ่มร้านค้ารายย่อยให้ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มแอปเป๋าตังทุกแคชเชียร์ นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกระจายให้กับทุก Modern Trade แบบเท่าเทียมกัน และอยากให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการที่ลงทุนในเรื่องของการลดใช้พลังงาน

Advertisement

ส่วนกรณีการถูกตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐกว่า 573 รายการ หรือคิดเป็นยอดเงิน 50-60 ล้านดอลลาร์ หรือกระทบสินค้าเพียง 4-5 % ของมูลค่าตลาดรวมของสหรัฐ เท่านั้นถือว่ากระทบส่งออกไทยเล็กน้อย โดยสินค้าที่ถูกตัดจีเอสพีจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 5 % และเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิสามารถปรับตัวและหาตลาดใหม่ทดแทนได้ อีกหากดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้เหมาะสม จึงมั่นใจว่าไม่น่ากระทบยอดการส่งออกโดยรวมของไทยอย่างแน่นอน

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งคณะกรรมการค้าปลีกได้มีการหารือกันและเห็นว่า ควรจะมีการจ้างงานในแบบพาร์ทไทม์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของตลาดและความรู้ความสามารถของแรงงาน

นอกจากนี้ต้องมีการส่งเสริมการค้าออนไลน์โดยต้องมีการกำหนดภาษีของการค้าออนไลน์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการค้าขายออนไลน์ หรือกำหนดวงเงินสินค้าจำนวนเท่าไรถึงจะต้องเสียภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกขยายการค้าอีคอมเมิร์ซได้และเพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สร้างธุรกิจได้

รวมถึงควรมีการลดสินค้าหรือกำหนดราคาสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมเพื่อประโยชน์การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย ส่วนการรณรงค์เรื่องเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสำคัญได้มีการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกอยู่ ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2563 กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกจะงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image