การเป็นทหารอาชีพของไทยกับพฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร โดย: พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส

คําว่า “อาชีพราชการ” (Career) หมายถึง พันธกิจต่างๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งและหน้าที่การงานของตนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีวิตของตนและครอบครัว โดยมีแนวความคิดของคำว่า “อาชีพ” จำนวน 3 ประการ คือ 1.มีความเชี่ยวชาญ (Expertise) 2.มีความรับผิดขอบ (Responsibility) และ 3.มีการให้ความร่วมมือ (Corporations) และมีองค์ประกอบของอาชีพ 4 ประการคือ 1.ใช้ความรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติมาทำงาน 2.นำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี 3.ใช้ประสบการณ์ที่ได้สะสมมาปฏิบัติงาน 4.สามารถตอบสนองความต้องการที่สำคัญของมนุษย์และสังคม ได้ตามลักษณะอาชีพของตน

ในตำราวิชา “ผู้นำ” พิมพ์เมื่อ มิ.ย.2558 ที่ใช้สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ให้ความหมาย คำว่า “ทหารอาชีพ” (Military Professionalism) คือทหารที่มีความรู้ ความชำนาญในวิชาชีพของตน พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ โดยมีองค์ประกอบของทหารอาชีพ 3 ประการ ได้แก่ 1.มีความเชี่ยวชาญในการทำการรบและสงคราม 2.มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 3.ให้ความร่วมมือทั้งแรงกายและจิตใจอย่างเต็มความสามารถ และมีคุณลักษณะทหารอาชีพ 4 ประการคือ 1.มีความสำนึกในการเป็นทหาร 2.ฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถอย่างแท้จริง 3.มีความชื่อสัตย์สุจริต และ 4.มีความกล้าหาญ

ส่วนคำว่า “อาชีพทหาร” (Military Occupation) คือทหารที่ไม่มีความสนใจและใส่ใจในการศึกษาและพัฒนาวิชาทหาร ชอบยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ และใช้เครื่องแบบทหารไปสร้างอิทธิพลและหาผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อตนเองและพวกพ้อง

ในวงการทหาร คำสองคำนี้จึงมีความหมายตรงข้ามกันเกือบสิ้นเชิง ทหารอาชีพ ต้องมีความประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับที่ประชาชนไว้ใจ มีหน้าที่ป้องกันประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับการฝึกฝนเรื่องการรบมาโดยตรง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในยามปกติและสงคราม ทหารอาชีพจะเห็นแก่ชาติมากกว่าตนเอง และมีความระลึกอยู่เสมอว่าความรับผิดชอบของตน ไม่สามารถจะทดแทนด้วยรางวัลอื่นใด เขาเหล่านั้นมีแรงจูงใจภายในที่จะทำเพื่อชาติ และประชาชน ด้วยการเสียสละชีวิตเมื่อจำเป็น

Advertisement

แนวคิดเรื่องความเป็นทหารอาชีพ นั้น ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการทหาร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ในหนังสือเสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย (Militocracy : Military Coup and Thai Politics) เมื่อมกราคม พ.ศ.2558 โดยอ้างอิงจากทฤษฎีของนักการทหารชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ ไฟเนอร์ ที่เขียนหนังสือเรื่อง The Man on Horseback เมื่อปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ไว้ว่า “ปัจจัยสำคัญที่หักห้ามความปรารถนาในการแทรกแซงการเมืองก็คือความเป็นทหารอาชีพ” อีกท่านคือ แซมมวล พี ฮันติงตัน ที่เขียนหนังสือชื่อ The Soldier and The State เมื่อ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) ที่กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทหารออกจากการเมืองก็คือ “ความเป็นทหารอาชีพ”

ความหมายของพฤติกรรมประชาธิปไตย (Democratic Behavior) หมายถึง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงได้ คนในสังคมทุกภาคส่วน จำเป็นต้องมีจิตใจ พฤติกรรม และบุคลิกภาพที่เป็นประชาธิปไตยด้วย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงจะสมบูรณ์ และประสบความสำเร็จได้ โดยมีนักรัฐศาสตร์และนักจิตวิทยาได้สรุปไว้คือ 1.การรู้จักบทบาทหน้าที่ของตน 2.การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น 3.การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน 4.การยอมรับและเคารพในสิทธิและหน้าที่ของบุคคล และ 5.การใช้ปัญญาหรือเหตุผลในการแก้ไขและตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้น

ผู้เขียนได้สนใจทำการวิจัยเรื่อง บทบาทของนายทหารบกระดับกลางที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2560 จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยต่างๆ พบว่า มี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.พฤติกรรมองค์การของทหาร 2.ผลของกฎหมาย 3.กลุ่มผลประโยชน์ และ 4.พฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้

Advertisement

สำหรับพฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร (Military Democratic Behavior; MDB) หมายถึง การแสดงออกทางการเมืองของทหารที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลักและมีคำจำกัดความสั้นๆ ไว้ด้วย ดังนี้คือ 1.ความมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึงความสนใจติดตามข่าวสาร การเข้าร่วมกิจกรรม และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามที่กฎระเบียบทางราชการกำหนดไว้ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร-รัฐบาลพลเรือน (Relation During Military and Civil Government) หมายถึงความสัมพันธ์ในบทบาทของทหารกับรัฐบาลพลเรือน ในสภาวะการต่างๆ 3.ความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ (Soveriegn) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นผู้ทำให้เกิดกฎหมาย เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรืออธิปไตยของรัฐ

จากการให้ความร่วมมือของนายทหารบกระดับกลางชั้นยศพันตรี-พันเอก (พิเศษ) ที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยการทัพบก และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งถือเป็นมันสมองและบุคลากรสำคัญของกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมในอนาคต ได้ช่วยตอบแบบสอบถามจากคะแนน 5 ระดับคือ 5 (เห็นด้วยอย่างยิ่ง), 4, 3, 2 และ 1 (ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง) ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยของ 417 ท่าน ที่แสดงความคิดเห็นออกมาเป็นตัวเลข ทำการประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปจากคอมพิวเตอร์ โดยขอยกตัวอย่างมาบางคำถาม ดังนี้

ความมีส่วนร่วมทางการเมือง

1.ท่านเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลควรกำหนดโดยเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย ได้ค่า 3.78

2.ท่านเชื่อว่าการเมืองไม่ควรเป็นเรื่องของผู้ได้รับการศึกษาสูงเท่านั้น ได้ค่า 4.00

3.ท่านเชื่อว่าในขณะรับราชการทหารเป็นทหารอาชีพ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้ค่า 3.50

4.ท่านเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองควรแก้ด้วยการเมืองก่อน ได้ค่า 3.88

สรุปใน 4 คำถาม ในข้อที่ 2 มีค่ามากที่สุด หมายความว่า การเมืองนั้นเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับใด ส่วนในข้ออื่นๆ ก็มีความสำคัญเรียงตามลำดับไป

ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือน

1.ท่านเชื่อว่าในการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ หน่วยทหารทุกหน่วยต้องอยู่ภายใต้การกำกับและบริหารของรัฐบาล ได้ค่า 3.87

2.ท่านเชื่อว่า รัฐบาลพลเรือนที่บริหารราชการแผ่นดินด้วยหลักธรรมาภิบาลจะมีวาระการเป็นรัฐบาลครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด ได้ค่า 3.86

3.ท่านเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนที่บริหารประเทศ จะต้องมีส่วนสำคัญในการเลือกและแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วยระบบคุณธรรม ได้ค่า 3.67

4.ท่านเชื่อว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตยทหารจะต้องไม่เข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐบาล ได้ค่า 3.88

สรุปใน 4 คำถาม ในข้อที่ 4 มีค่ามากที่สุด หมายถึงในประเทศ ในประเทศเสรีประชาธิปไตย ทหารจะต้องไม่เข้าไปมีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐบาล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของรัฐบาลพลเรือน ส่วนในข้ออื่นๆ ก็มีความสำคัญเรียงตามลำดับไป

ความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เช่น

ท่านคิดว่าการเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศักดิ์ศรีมากกว่าได้อำนาจมาจากวิธีการอื่นๆ ได้ค่า 3.87

และเมื่อนำองค์ประกอบทั้ง 3 คือ ความมีส่วนร่วมทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาล พลเรือน และความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มาหาค่าเฉลี่ยร่วมกันอีก ได้ค่าดังนี้

ความมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้ค่า 3.65 ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือน ได้ค่า 3.72

และความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ได้ค่า 3.50 โดยทั้งสามองค์ประกอบมีระดับความสำคัญทางสถิติมากทั้งหมด

จึงแสดงว่า จากผลงานวิจัยที่รองรับ สามารถสรุปได้ว่า พฤติกรรมประชาธิปไตยของทหารนั้น มีตัวชี้วัดที่สำคัญเรียงลำดับได้คือลำดับ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือน ลำดับ 2 ความมีส่วนร่วมทางการเมือง และลำดับ 3 ความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 24 มีนาคม 2562 มีนายรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรวม 36 ท่าน ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ และมีการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่ออังคารที่ 30 กรกฎาคม 2562 ถึงแม้จะมีท่านนายกรัฐมนตรีคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ซึ่งเป็นอดีตนายทหารในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนในระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพราะฉะนั้น ทหารอาชีพทุกเหล่าทัพต้องแสดงพฤติกรรมประชาธิปไตยของทหารด้วยการดำรงตนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ บริหาร และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพลเรือน เหมือนกับกองทัพในสังคมของประเทศกลุ่มตะวันตก (อเมริกา-ยุโรป) ที่ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว ตลอดไป

พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ/อาจารย์สาขาการบริหาร
การพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image