ประชุมสุดยอด‘รัสเซีย-แอฟริกา’ โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกาครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นที่เมืองโซชิ รัสเซียวันที่ 23-24 ตุลาคม มีผู้นำและผู้แทนประเทศแอฟริกาเข้าร่วมประชุมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศว่า “รัสเซียกลับสู่แอฟริกาอีกวาระหนึ่ง”

แอฟริกาเป็นทวีปใหญ่ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม หากมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่ดลใจของประชาคมโลก

ฝรั่งเศสเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดฝรั่งเศส-แอฟริกาไปหมาดๆ

Advertisement

สหรัฐกำลังจะเปิดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกใหม่เข้าสู่ทวีปแอฟริกาเช่นกัน

แต่รูปแบบต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัสเซีย ไม่ว่าฝรั่งเศส ไม่ว่าสหรัฐ

Advertisement

ก็อยากที่จะแข่งขันกับจีนในแอฟริกา

แอฟริกามี 54 ประเทศ มีจำนวนประชากร 1,200 ล้านคน ภาวะเศรษฐกิจล้าหลัง แต่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์ทองคำและเพชรของโลก

กาลอดีต กึ่งหนึ่งของประเทศแอฟริกาถูกปกครองภายใต้อาณานิคม

กระทั่ง 1960 จึงมีกระแสเรียกร้องการเป็นเอกราช

ก็เพราะแอฟริกามีประเทศเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ทรงพลังในสหประชาชาติ ซึ่งเปี่ยมด้วยพลังอันสามารถชี้เป็นชี้ตายได้อย่างไม่ยาก

จึงไม่แปลกที่ “เหมา เจ๋อ ตง” กล่าวว่า การที่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาติเมื่อปี 1971 ได้นั้น
ก็เพราะประเทศแอฟริกา “อุ้มเข้าไป”

เป็นอมตะวาจา

การที่ “ปูติน” ประกาศกลับสู่แอฟริกานั้น เหตุผลคือ สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ท่ามกลางภาวะสงครามเย็น รัสเซีย
เคยให้ความช่วยเหลือหลายประเทศให้หลุดพ้นจากการปกครองโดยอาณานิคม และหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ชื่อของมอสโกก็จางหายไป

บัดนี้ รัสเซียแสดงเจตนาร่วมกับแอฟริกาพัฒนาประเทศ ก็ด้วยวัตถุประสงค์ทางการทูต

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า รัสเซียถูกยุโรปและสหรัฐทำการคว่ำบาตร แอฟริกากำลังรอจังหวะการพัฒนา รัสเซียจึงหวังได้รับอานิสงส์บ้างตามสมควร

ปัจจุบันรัสเซียกับแอฟริกามียอดการค้าสูงต่อปีประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“ปูติน” ประกาศว่า จะใช้เวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูการค้าระหว่างรัสเซียกับแอฟริกา

เป็นการแสดงเจตนาที่สร้างสรรค์ ได้ประโยชน์หลายสถาน

กาลอดีตรัสเซียส่งออกไปยังแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นอาวุธสงครามและผลิตภัณฑ์ทางการทหาร หากมิใช่หนทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ รัสเซียจึงทำโปรโมชั่นในด้านการสร้างพลังงานนิวเคลียร์

ฉะนั้น การประชุมสุดยอดที่เมืองโซชิครั้งนี้ ได้มี 18 ประเทศแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ถ้าดีลกันได้สำเร็จทั้งหมด โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูการค้า นั้น

อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ในแอฟริกาขาดแคลนทุกอย่าง สิ่งที่ถวิลหาคือเงิน เสมือน “ยาสารพัดนึก”

“ปูติน” เป็นนักการเมืองที่เล่นการเมืองเก่ง ฝีมือรุ่นลายคราม อ่านเกมออก จึงประกาศยกเลิกหนี้ให้แก่ประเทศแอฟริกา 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นตัวเลขที่ “เตะตา” และดูมหาศาล

แต่ความจริงปรากฏว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้เก่ามาหลายสิบปีแล้ว

ส่วนหนี้ใหม่มีจำนวนอันน้อยนิดเท่านั้น

การยกหนี้ให้แก่กลุ่มประเทศแอฟริกาในครั้งนี้ ไม่น่าจะเกิดประโยชน์มากนัก

เพราะสิ่งที่เห็นเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

หากเปรียบเทียบกับหนี้ที่ประเทศจีนยกให้นั้น เสมือนหัวแถวกับหางแถว

ส่วนการประชุมกับกลุ่มประเทศแอฟริกา จีนได้เริ่มตั้งแต่ปี 2000 และจัดขึ้นทุก 3 ปี แต่เรียกชื่อว่า “Forum on China-Africa Cooperation”

และทุกครั้งที่มีการประชุม จีนได้ยกเลิกหนี้แก่ประเทศแอฟริกาที่ไม่เจริญที่สุด ถึงวันนี้ จีนได้ยกเลิกไปแล้วหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

การประชุมสุดยอดปี 2018 ที่ปักกิ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่าจะไปลงทุนในแอฟริกาเป็นจำนวน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคม และเกษตรกรรม เป็นต้น

ไม่ว่าการยกเลิกหนี้สิน ไม่ว่าการลงทุนในกลุ่มประเทศแอฟริกา

นักวิเคราะห์ตะวันตกวิจารณ์ว่า คือ “การทูตเงินตรา”

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง 10 ปี

ส่วนบทบาทของสหรัฐในแอฟริกา หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็ได้ประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี สหรัฐช่วยเพียง 50 ล้านเหรียญ

เมื่อปี 2018 สหรัฐเสนอฟื้นฟูการลงทุนในแอฟริกา จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

คำพูดของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จึงเสมอฟ้าร้องแต่ฝนไม่ตก

การประชุมสุดยอดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับแอฟริกา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นแม่งาน แต่ก็ขาดประชุม

การกล่าวสุนทรพจน์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เขาไม่ได้พูดถึงแอฟริกาแต่อย่างใด และเมื่อปีที่แล้วเขาพูดถึงการอพยพของชาวแอฟริกาโดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมพรรณนาแอฟริกา เป็นการดูหมิ่นถิ่นแคลนชาวแอฟริกา

เป็นเหตุให้ชาวแอฟริกาทำการประท้วงอย่างร้อนแรง

ส่วนสหภาพยุโรป แม้ได้ทำธุรกิจกับแอฟริกาในขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง แต่แค้นเก่าก็ยังไม่คลาย ซึ่งเป็นแค้นที่ตกค้างเมื่อประเทศแอฟริกาได้ตกเป็นอาณานิคมของบางประเทศในยุโรป

โอกาสที่จะพัฒนาย่อมมิใช่เรื่องง่าย เพราะมีสิ่งกีดขวางคือ “แค้นเก่า”

ฉะนั้น อำนาจบารมีในแอฟริกา จะหาประเทศใดเทียบกับจีนได้ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง

ตลาดแอฟริกาเป็นของจีน เพราะว่า

จีนเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน และมีความสามารถในการเอื้อประโยชน์ให้แก่แอฟริกามากกว่าประเทศอื่น อีกทั้งเป็นกัลยาณมิตรมาเป็นเวลาอันยาวนาน

แม้รัสเซียถือเป็นรุ่นน้องที่เข้าสู่ตลาดแอฟริกา แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ดีที่จัดการประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกา ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้น

การเริ่มต้นที่ดีย่อมสำเร็จไปกึ่งหนึ่งแล้ว

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image