ผลประโยชน์แสนล้านกับอนาคตที่‘ในน้ำบ่มีปลา ในนาบ่มีข้าว’ โดย : ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ

ล่าสุด ต้นเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรยังยืนยันต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างน่ากังขาว่า ไม่มีสารตัวอื่นมาทดแทน “พาราควอต” และอีกสองสามชนิดที่เกษตรกรทั่วประเทศใช้ฆ่าหญ้าและวัชพืชก่อนเตรียมดินปลูกข้าวโพด ปาล์ม ยาง ฯลฯ

โดยอ้างผลการวิจัยที่เสนอผ่านคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติไปยังรัฐบาลที่เพียงพอต่อการสนับสนุนให้นำเข้าสารดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในจำนวนมหาศาลถึง 44,501 ตัน ในปี 2561 เพิ่มจาก 31,525 ตัน ในปี 2560 ปีนี้อาจจะปาไปกว่าครึ่งแสนตันแล้วก็ได้ ท่ามกลางข้อกังวลของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมโหฬาร เพื่อรักษาผู้ป่วยในชนบทที่เพิ่มขึ้นจากการรับสารพิษดังกล่าวทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบในเชิงนิเวศ

ที่น่าแปลกใจคือ คณะรัฐมนตรีไม่พยายามหาข้อยุติความขัดแย้งจากกรณี “สารอันตราย” ระหว่างกระทรวงที่มิใช่เฉพาะระหว่างเกษตรกับสาธารณสุขเท่านั้น ยกตัวอย่าง มติ ครม. เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่เห็นชอบโหวต 16:5 เสียงของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติที่ “ไม่ห้ามใช้สารพาราควอตต่อไปอีก 2 ปี”

แม้ก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้มีมติห้ามนำเข้าพาราควอต แต่เป็นการห้ามที่จะไม่มีผลหลังเดือนเมษายน 2561 ตามที่ทางกระทรวงสาธารณสุขขอ

Advertisement

เหตุผลคือ ต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เห็นด้วยกับการ “ไม่ห้ามใช้พาราควอตและสารพิษอื่น” ล่วงหน้าต่อไปจนถึงสิ้นปี 2564 [อ้างใน Bangkok Post, 16 February 2019 (https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1629962/paraquat-must-be-banned?fbclid=IwAR36ZmLN6Ho_LseuHEuosikEzmAMEBPIVf1Ffy2XVfsMMBgo3-SSqbNVFSA)]

เรื่องวุ่นๆ ที่ฟังแล้วออกจะเวียนหัวนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้า ครม.ไม่เอียงเข้ากับเหตุผลซ้ำๆ ว่า “ไม่มีผลงานทางวิชาการใดที่ยืนยันว่าสารพาราควอตเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร” หรือ “ยังหาสารอื่นทดแทนไม่ได้” หรือ “เกษตรกรคุ้นกับวิธีป้องกันสารชนิดที่นำเข้าอย่างดีแล้ว” เพราะต้องไม่ลืมว่านี่เป็นข้ออ้างที่มิได้มาจากสถาบันอิสระ แต่เป็นของหน่วยงานที่อยู่ในอาณัติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ ที่รัฐบาลไม่เคยสั่งทบทวนถึงผลกระทบต่อสภาพตายผ่อนส่งของเกษตรกรด้วยผลงานของสถาบันวิจัยอิสระในกำกับของรัฐบาล

จนกระทั่งเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดดราม่าเมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” เดินทางมาสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเพื่อมาทวงเอกสารเกี่ยวกับสต๊อกสารเคมีพิษภาคการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทย หลังจากเคยมีหนังสือขอไปแต่เงียบสูญกว่า 2 เดือน

Advertisement

ตามมาด้วยการเชิญอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจากกระทรวงเกษตรฯมาร่วมประชุมเรื่องยกเลิกการใช้สารอันตราย “พาราควอต” วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และจบลงด้วยมติ 9:0 โดยท่านอธิบดียอมรับมติ แต่ยังภาคเสธกับประเด็นสารทดแทน

อย่างไรก็ตาม “มติ 9:0” ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ และตามมาด้วยลงมติ “เอกฉันท์” ให้เลิกการใช้สาร paraquat, glyphosate และ chlorpyrifos ของ “26 อรหันต์” หลังถกแถลงถึงปัญหา ทางออก ข้อดีข้อเสียกว่า 3 ชั่วโมง เมื่อวันอังคาร (22 ต.ค.62)

ถึงเวลาที่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า “อุตสาหกรรม” “มหาดไทย” “เกษตรและสหกรณ์” ฯลฯ ต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกัน แม้จะมีแรงกดดันจากเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับผลประโยชน์นับแสนล้านมานับทศวรรษ

เพราะต้องถือว่ามติของ 26 อรหันต์เมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นการกลับหลังหันไปสู่การเริ่มศักราชของการหยุดทำลายสภาพแวดล้อมชนบท และพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรไทยที่กำลังตายผ่อนส่งให้กลับมาอยู่กับความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ หรือคืนสู่สภาพ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของประเทศไทยที่มีธรรมชาติของ “ดินดีสม เป็นนาสวน”

เรื่องนี้คงไม่จบง่าย โอกาสที่มติของ 26 อรหันต์จะเปลี่ยนแปลงอีกมิใช่ว่าจะเป็นศูนย์

ข่าวล่าสุด “ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตร” ของสหรัฐ (ไม่ใช่รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ และน่าสงสัยว่าเป็นนอมินีของเอกชน) ได้ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนมติของ “26 อรหันต์” ทันควัน และแทนที่นายกรัฐมนตรีจะแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่ามันจบแล้ว กลับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบไปให้ยืดเยื้อโดยใช่เหตุ

ความไม่แน่นอนของวิเทโศบายไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลใดก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นลูกตุ้มถ่วงรั้งและทำลายโอกาสการพัฒนาบ้านเมืองเสมอมา

ในกรณีนี้น่าสงสารเกษตรกร ที่ตกอยู่ในสภาพเหมือนกบต้มในหม้อบนเตาไฟ ที่รอวันหมดเรี่ยวหมดแรง กว่าจะรู้ตัวว่าถูกตุ๋นมานับศตวรรษ!

ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image