สบน.เผยอันดับเครดิตไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอาร์แอนด์ไอของญี่ปุ่น ปรับความน่าเชื่อถือไทยเป็น A-

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จากระดับ BBB+ เป็น A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ระดับเสถียรภาพ (StableOutlook)

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า อันดับความน่าเชื่อถือดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเดือนกรกฎาคม 2562 มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเป็น บวก จากเสถียรภาพ และในเดือนพฤศจิกายนนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือเอสแอนด์พีเข้ามาเก็บข้อมูลในไทย เพื่อประกาศอันดับเครดิตใหม่ในเดือนธันวาคม สบน.คาดว่าได้รับมุมมองเครดิตดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอันดับเครดิตที่ดีขึ้นมีผลทำให้การกู้เงินของไทยได้รับความน่าเชื่อถือทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า R&Iให้เหตุผลที่ทำให้ไทยได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือว่ามาจากปัจจัยหลัก 4 เรื่องกล่าวคือ1. รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งมีการดำเนินการในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง

Advertisement

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า 2. การเกินดุลการค้าและดุลบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักจากรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น ประเด็นเรื่องสภาพคล่องในสกุลเงินตราต่างประเทศจึงไม่น่ากังวล

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า 3. การมีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง ทำให้การบริหารจัดการด้านการคลังมีประสิทธิภาพและมีรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยมีการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้น จึงไม่มีความน่ากังวลทั้งในประเด็นด้านความสามารถในการระดมทุนและความเสี่ยงทางการคลัง

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า 4. ด้านการเมืองของประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและสามารถดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยR&I ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมือง โครงสร้างของการกระจายรายได้ระหว่างเขตเมืองและชนบท รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางการเมืองอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ R&I จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมาโดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะพิจารณาจากองค์ประกอบ 5 ด้าน อันได้แก่ ภาวะทางการคลัง  โครงสร้างการระดมทุน ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานทางสังคมและการเมือง และความสามารถในการบริหารจัดการนโยบาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image