สกู๊ป น.1 : คัดสรรของขวัญผู้นำ ‘อาเซียน ซัมมิท 35’ รักษ์โลก-ทรงคุณค่า

หนึ่งในสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่ส่งท้ายการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 คือการคัดสรรสิ่งของที่จะนำมาเป็นที่ระลึกสำหรับผู้นำอาเซียนและผู้นำประเทศคู่เจรจา รวมถึงผู้นำองค์การระหว่างประเทศ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายนนี้

ของขวัญที่ได้มีการจัดเตรียมไว้สำหรับผู้นำประเทศรวมถึงคู่สมรสมีอยู่มากมายหลากชนิด โดยของที่ผ่านการคัดสรรมาสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย รวมทั้งได้มีการเพิ่มคุณค่าและพัฒนางานดีไซน์ให้ร่วมสมัย และสะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างงดงาม ขณะเดียวกันก็มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของของที่ระลึกอีกด้วย

สำหรับของขวัญสำหรับผู้นำประเทศในอาเซียนในการประชุมครั้งนี้ คือ โถศิลาดลคล้องพวงมาลัย ซึ่ง คุณอภิมุข ชูเทียน จากร้านจิราวรรณ เบญจรงค์ จ.นครปฐม เล่าให้ฟังถึงที่มาทำงานชิ้นดังกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับกรมพัฒนาชุมชนเพื่อหาผู้ที่ทำงานเซรามิกที่ตอบโจทย์ในการสะท้อนความเป็นไทย เมื่อนำแบบมาเสนอก็ได้รับเลือกให้ทำ ซึ่งไม่คาดคิดว่าจะได้ ตอนแรกก็รู้สึกหนักใจ เพราะการทำเซรามิกให้ได้งานเช่นนี้มีความเป็นไปได้น้อย งานทั้งชิ้นไม่ว่าจะเป็นตัวโถหรือมาลัยที่คล้องอยู่ด้านบนต้องปั้นด้วยมือทั้งหมด

Advertisement
อภิมุข ชูเทียน

คุณอภิมุขบอกว่า การผลิตงานชิ้นนี้ถือว่ายากทุกขั้นตอน อีกทั้งสภาพอากาศในขณะที่ทำงานก็มีผลกับการปั้นดินด้วย ทางร้านค่อยๆ บรรจงทำในทุกขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลา เมื่อได้งานปั้นออกมาก็ต้องมีการนำไปอบ เคลือบสี และเขียนลาย โดยผลงานทั้ง 25 ชิ้นนี้ใช้เวลาทำถึง 2 เดือนครึ่ง

ขณะที่ลายซึ่งปรากฏบนโถศิลาดลนั้นก็แกะออกมาจากลายโบราณที่ทางร้านเคยเขียนอยู่ รวมถึงมีลายที่ออกแบบใหม่คือลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นลายประจำรัชกาลที่ 10 ผสมผสานกับลายอื่นๆ อาทิ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพิกุล และลายไข่ปลา โดยลายดอกรวงผึ้งนั้นถูกนำไปเขียนไว้ในช่องที่สูงที่สุดในชิ้นงานดังกล่าว

คุณอภิมุขบอกว่า ผลงานชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าศิลปะของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่างผสมผสานกันอยู่ นับเป็นความภาคภูมิใจของร้านที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบงาน ได้คิด และได้ทำงานศิลปะเพื่อมอบให้กับผู้นำที่มาร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิท งานชิ้นนี้จึงเป็นการสืบทอดหัตถศิลป์ของไทยให้ผู้คนได้เห็นว่าประเทศไทยมีอะไรน่าสนใจมากกว่าที่เห็น

Advertisement

ด้าน คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวถึงงาน 2 ชิ้นที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นของขวัญสำหรับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา และยังเป็นของขวัญสำหรับคู่สมรสของผู้นำประเทศคู่เจรจาในการประชุมครั้งนี้ นั่นคือ พวงมาลัยเงิน บรรจุอยู่ในกล่องสำริดลงยาสีสลับ ซึ่งเป็นผลงานของครูนฤมล ทอนใจ จาก จ.นครพนม ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SACICT ให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องประดับเงิน)

พวงมาลัยไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ใช้แสดงออกถึงจิตคารวะ แต่ยังถูกใช้ในงานมงคล รวมถึงต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต และยังเป็นตราสัญลักษณ์ของการเป็นประธานอาเซียนของไทยตลอดปีนี้อีกด้วย

ขณะที่ กระเป๋าคลัตช์ย่านลิเภาถมเงิน จาก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นของขวัญสำหรับคู่สมรสผู้นำในครั้งนี้เป็นผลงานของ นางสุเจนจิต ทองเสภี ซึ่ง SACICT ยกย่องเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 ร่วมกับ น.ส.นภารัตน์ ทองเสภี บุตรสาว ที่ได้รับการยกย่องเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557

คุณแสงระวีบอกว่า งานชิ้นดังกล่าวเป็นการผสมผสานงานลิเภา ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของ จ.นครศรีธรรมราช เข้ากับงานถมเงินที่ทำเป็นรูปพวงมาลัย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประชุมอาเซียนในไทยตลอดปีนี้ เป็นฝีมือของคนสองรุ่น คือรุ่นแม่ที่เป็นครูช่างกับรุ่นลูกสาวที่เป็นทายาท ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำแบรนด์ของตัวเองและมองช่องทางในแง่การตลาด จนได้กระเป๋าคลัตช์ที่แม้จะดูเรียบง่ายแต่ก็มีรายละเอียดที่งดงาม

คุณเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ได้เล่าให้ฟังถึงการแปรรูปพลาสติก upcycle ของจีซีเพื่อผสมกับไหมไทยของจิม ทอมป์สัน ทำเป็นผ้าพันคอเนกไทและผ้าคลุมไหล่มอบให้กับผู้นำและคู่สมรสที่เข้าร่วมงานกาลาดินเนอร์ว่า สิ่งของที่แจกให้กับผู้นำและคู่สมรสทั้งหมดผลิตขึ้นให้เข้ากับแนวคิดหลักของการประชุมในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้นำนวัตกรรมในการแปรรูปขวดพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เนกไท 1 เส้น ใช้พลาสติก 2 ใบผสมกับผ้าไหม ขณะที่ผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอใช้ขวดพลาสติก 68 ใบ เป็นของที่ระลึกที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

จีซีไม่ได้ร่วมมือในการผลิตของที่ระลึกสำหรับผู้นำอาเซียนในครั้งนี้เท่านั้น แต่ได้ให้ความร่วมมือในการนำขยะมาผลิตเป็นของที่ระลึกแจกผู้แทนประเทศต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพตลอดทั้งปี โดยได้มีการนำขยะพลาสติกในท้องทะเลมาแปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติกผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง และนำไปให้ชาวบ้านในชุมชนที่ จ.ระยอง และ จ.สุโขทัย ทอเป็นกระเป๋าเครื่องเขียนและกระเป๋าใส่ไอแพด รวมถึงทำเสื้อโปโลที่มีตราสัญลักษณ์อาเซียน ซึ่งผลิตจากขวดพลาสติก 15 ขวด ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีดังกล่าว

คุณเกรียงศักดิ์บอกว่า การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่พูดถึงกันมากในขณะนี้ แต่ยังตอบโจทย์ของไทยในการจัดประชุมอาเซียนให้เป็นกรีน มีตติ้ง และยังเป็นการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งจะนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่าเราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมได้

“จีซีต้องขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ให้เกียรติเรามีส่วนร่วมในการเป็นพันธมิตรในการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดี และมีโนฮาวที่ตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี” คุณเกรียงศักดิ์กล่าว

ไม่ใช่เพียงการรังสรรค์สิ่งของที่มีความหมายมามอบให้กับผู้นำและผู้แทนประเทศต่างๆ ที่มาเข้าร่วมประชุมในไทย แม้แต่แผ่นไวนิลที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์การประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี ยังถูกนำกลับมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าเอกสารและกระเป๋าสะพายที่น่าใช้งานด้วยฝีมือของบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แบบไม่ให้เหลือทิ้ง

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะคัดสรรสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทยและความเป็นกรีน มีตติ้ง ในทุกๆ รายละเอียดของการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image