“ธนาธร” แนะวิธีรับมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบ รัฐออกมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอีมีกำไร รัฐได้ภาษี (ชมคลิป)

เมื่อสายวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่พรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บรรยายพิเศษ หัวข้อ เศรษฐกิจซบเซาและซึมยาว SME ไทยจะรับมืออย่างไร ” ตอนหนึ่งว่า ช่วงเลือกตั้งได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก เริ่มเห็นและรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่มากจริงๆ หลายคนเดินเข้ามาบอกและร้องไห้ บอกว่างานไม่มีทำ ขอให้ช่วย เพราะมื้อหน้าไม่รู้จะให้ลูกกินอะไร ยังไม่มีเลย หลายคนสามีตกงาน ตนเห็นความลำบาก ความขัดสนของประชาชนในหลายๆจังหวัด ซึ่งก็ได้ให้กำลังใจกันและกัน

นายธนาธร กล่าวว่า โดยหลักแล้วกำไรของนิติบุคคลเอกชนจะเป็นภาษีให้กับรัฐบาล ยิ่งบริษัทมีกำไรมากขึ้น รัฐบาลจะได้ภาษีไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนและเอสเอ็มอีมีกำไร ในสถานการณ์ที่เจอเศรษฐกิจซบเซาสิ่งที่กระทบหนักสุด คือยอดขายของบริษัท เมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ผลกระทบจะเกิดทันที ดังนั้น สิ่งที่เอกชนต้องทำเป็นอย่างแรก คือต้องรู้และเข้าใจตัวเองด้วยการทำแบบจำลองในทางธุรกิจว่าเราจะอยู่จุดไหน เช่น ถ้ายอดขายลดลงเท่าไรถึงจะขาดทุนผ่านการใส่ต้นทุนแปรผันกับต้นทุนคงที่ เพื่อจะได้รู้ว่าเราจะถึงจุดที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น เมื่อครั้งบริษัทของตนเองเกิดปัญหาก็ดำเนินการลดเงินเดือนผู้บริหารก่อนเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่เริ่มจากลดเงินเดือนของพนักงาน

นายธนาธร กล่าวว่า ในภาวะวิกฤติ กำไรขาดทุนเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่สำคัญ คือ กระแสเงินสด โดยต้องประมาณการณ์การเก็บเงินสดให้มากที่สุด เพื่อให้บริษัทมีเงินสดในการหมุนเวียนทางธุรกิจและสร้างเสถียรภาพในทางธุรกิจ เนื่องจากเวลาเกิดวิกฤติและงบดุลของบริษัทเริ่มติดลบ จะมีโอกาสน้อยที่สถาบันทางการเงินจะปล่อยเงินกู้ให้อีกครั้ง

“ถ้าถึงคราววิกฤติจริงๆ อย่าเพิ่งปิดกิจการ เพราะหากยังอยากจะสู้ก็สามารถแปรทรัพย์สินเป็นเงินสดมาหมุนเวียนทางธุรกิจ เช่น ที่ดิน เครื่องจักร และดำเนินการเช่าซื้อเพื่อขอให้ได้สิทธิในการซื้อคืนในภายหลัง นอกจากนี้ ถ้าเป็นบริษัทที่เปิดกิจการมานานควรแปรสินค้าคงเหลือมาเป็นเงินสด หรือเก็บเงินจากลูกค้าเร็วขึ้น หรือบอกเจ้าหนี้การค้าของเราขอชำระการชำระหนี้ช้าลง โดยเดินเข้าไปขอกันแบบตรงๆ ซึ่งจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันมาก่อนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งหมดเป็นการบริหารการเงินขององค์กรในภาวะวิกฤติ” นายธนาธร กล่าว

Advertisement

นายธนาธร กล่าวอีกว่า นอกเหนือไปจากการจัดการเงินสดแล้วยังต้องมีการจัดการภายในองค์กรด้วยเพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น การเพิ่มทักษะใหม่ๆให้กับพนักงานของบริษัท เนื่องจากเมื่อยอดขายลดลงแล้วย่อมเท่ากับว่าเวลาการทำงานย่อมลดลงตามไปด้วย จึงมีเวลาเหลือมากพอในการพัฒนาทักษะใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อยอดขายกลับมาสูงขึ้น องค์กรก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มสำหรับการแข่งขันทันที

นายธนาธร กล่าวอีกว่า “ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ในองค์กรของผมมีเครื่องจักรซีเอ็นซีหรือเครื่องกลึงไสกัดเจาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่พนักงานที่อยู่หน้าเครื่องมีอายุเยอะแล้วและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ปรากฏว่าผมเอาพนักงานกลุ่มนี้ไปพัฒนาทักษะเพื่อเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักรแทนการใช้คน ใช้เวลาสอนอยู่หนึ่งปีเขาก็สามารถทำได้ ทำให้เราได้พนักงานใหม่ขึ้นมาทันที ดังนั้น ในภาวะวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอทั้งการจัดการหลังบ้าน หรือ Back To Basic และการจัดการภายในเพื่อไปข้างหน้า”

นายธนาธร กล่าวถึงเศรษฐกิจมหภาคด้วยว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีความเข้มแข็งเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ โดยเฉพาะการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ในอดีตประเทศไทยได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่ผ่านมา 60 ปีประเทศก็ยังคิดแค่การเปิดรับการลงทุนทั้งๆที่ในประเทศไทยมีสภาพคล่องล้นระบบแล้ว ดังนั้น ถ้าภาครัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ได้ก็จะนำมาสู่การจ้างงานอีกมหาศาล เช่น การสร้างโรงคัดแยกผลไม้เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรแบบในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตที่ออกขายมีมาตรฐาน หรือ การยกเลิกการใช้ลานตากข้าวบนถนนด้วยแรงงานคนซึ่งควบคุมอุณหภูมิและความชื้นไม่ได้ แต่จะใช้เครื่องอบข้าวที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ เพื่อให้เป็นเกษตรก้าวหน้า เป็นต้น เพราะการก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาจะต้องมีเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง การจะไปอย่างนั้นรัฐต้องลดเลิกการพึ่งพิงเม็ดเงินการลงทุนต่างประเทศ

Advertisement

“การยกเลิกการผูกขาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมมีกลุ่มทุนใหญ่ระดับประเทศและต้องพากลุ่มทุนเล็กขึ้นมาด้วย โดยกลุ่มทุนใหญ่จะต้องไปแข่งขันในระดับโลกไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเป็นการใช้อาศัยความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเพื่อสร้างกฎระเบียบบางประการ กลุ่มทุนใหญ่ในไทยไม่ได้เล่นบทบาทในระดับโลกที่คววรจะเล่น ไม่ใช่สะสมทุนในประเทศด้วยการผูกขาดและการใช้เครือข่ายอำนาจรัฐและเบียดเบียนผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขตรงนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมของประเทศเติบโตและเกิดการสร้างงานไปได้” นายธนาธร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image