คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ : ทายาทธุรกิจ แผนสืบทอด ใส่ไว้ในพินัยกรรมดีที่สุด

ท่านเป็นเจ้าของกิจการอายุ 60 แล้ว ถ้ามัวแต่ฝึกปรือฝีมือบุตรชายและบุตรสาวโดยไม่ทำแผนสืบทอดทายาทธุรกิจอย่างเป็นทางการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้มีผลบังคับทางกฎหมาย ก็นับว่าประมาทเกินไป เพราะในวัยนี้หากยังทำงานอยู่ ความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยหรือมีอันเป็นไปกระทันหัน มีมากเหลือเกิน หากเกิดอะไรขึ้นจะปล่อยให้คู่สมรส และลูกๆ ตัดสินชะตาชีวิตของตนเองและธุรกิจโดยปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมตามกฎหมายมรดก กระนั้นฤา

สิ่งที่อาจตามมาภายหลังที่ท่านถึงแก่กรรม (ขออนุญาตใช้คำพูดตรงไปตรงมาเพื่อสื่อความหมายได้ชัดเจน) อาจไม่ตรงกับเจตนาของท่านและอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ความกินแหนงแคลงใจ กันในบรรดาทายาทโดยธรรมได้ และกว่าจะแบ่งมรดกกันได้อาจต้องใช้สิทธิทางศาล กินเวลาหลายปี ต้องรอให้คดีถึงที่สุด ซึ่งธุรกิจของท่านต้องการผู้บริหารผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องลงนามในเอกสารทุกวัน อาจปล่อยไว้นานขนาดนั้นไม่ได้

ตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ตามด้วยคำสั่งศาล

ท่านควรทำพินัยกรรมวันนี้ อย่าผัดเป็นพรุ่งนี้ การตัดสินใจทำพินัยกรรมเป็นเรื่องยาก และไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ที่ดูเหมือนแช่งตัวเอง แต่ในฐานะนักธุรกิจ ที่มีส่วนได้เสียเป็นเงินเป็นทองสูง ท่านควรเปลี่ยนความคิดใหม่ หากท่านผัดวันประกันพรุ่งความเสียหายจะมีมากเกินไปสำหรับคนในครอบครัวที่ท่านรักและธุรกิจที่กำลังไปได้ดี ท่านไม่ต้องไปคำนึงถึงแผนสืบต่อทายาทธุรกิจแบบฝรั่ง หรือไปตั้งทรัสต์เมืองนอกให้วุ่นวายใจ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าศาลไทย และกฎหมายไทยจะยอมรับบังคับให้หรือเปล่า ทำพินัยกรรมแบบไทยๆ นี่แหละ ได้ผลชะงัดนัก

Advertisement

ตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ดูแลธุรกิจและผู้ปกครองทรัพย์สินแทนท่านไว้เลย หากถึงวันที่ท่านไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ผู้รับพินัยกรรมจะได้นำพินัยกรรมไปสู่ศาล เป็นคดีฝ่ายเดียวง่ายๆ ให้ศาลท่านตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมอย่างเป็นทางการให้ด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งขอเอกสารจากศาลยืนยันว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้จัดการมรดกของท่านก็จะสามารถนำหนังสือคดีถึงที่สุดจากศาลให้ธนาคารดู เข้าถึงเงินสดในบัญชีธนาคารของท่านได้ทันที และเซ็นเช็คจ่ายเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆในบริษัทได้อย่างทันทีทันใจ พร้อมทั้งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงบริษัทที่กระทรวงพาณิชย์ และการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินไปด้วยโดยไม่มีอะไรติดขัด

มิฉะนั้นธนาคารที่เป็นมิตรสนิทของท่านนั่นแหละ จะปฏิเสธความร่วมมือ ไม่ยอมให้ทายาทท่านทำธุรกรรมอะไรเลย จนกว่าการตั้งผู้จัดการมรดก ด้วยการต่อสู้คดีกันระหว่างทายาทจะถึงที่สุด

พินัยกรรมแบ่งทรัพย์สินทั้งหมด หรือบางส่วน

Advertisement

ระบุให้ชัดในพินัยกรรมว่า เป็นพินัยกรรมแบ่งปันทรัพย์สินทั้งหมดของท่าน หรือแต่เพียงบางส่วน ถ้ารวมทรัพย์สินทั้งหมดไว้ในพินัยกรรมแล้ว ต้องรวมทายาททั้งหมดไว้ในพินัยกรรมด้วย มิฉะนั้น ทายาทโดยธรรมที่ไม่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรม ก็จะถูกตัดสิทธิออกจากกองมรดกโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าจะขัดกับเจตนาของท่าน และเป็นความพลั้งเผลอของท่านเอง

แต่ถ้าพินัยกรรมเป็นการแบ่งทรัพย์สินโดยเฉพาะเจาะจงแต่เพียงบางส่วนหรือส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั้งหมด ทรัพย์สินหรือธุรกิจใดในส่วนที่เหลือ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมก็จะตกเป็นของทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ซึ่งก็รวมถึงบรรดาผู้รับพินัยกรรมด้วย ทำให้ผู้รับพินัยกรรมได้ส่วนแบ่งสองต่อ ส่วนทายาทนอกพินัยกรรมก็จะได้ส่วนแบ่งของทรัพย์สินนอกพินัยกรรมเท่านั้น

ใครได้ทรัพย์สินอะไร สืบทอดธุรกิจไหน

เขียนลงไปเลยให้ชัดๆว่าผู้รับพินัยกรรมชื่ออะไร ได้ทรัพย์สินอะไร ได้หุ้นในบริษัทไหน กี่หุ้น สัดส่วนเท่าใด เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานกรรมการ และ กรรมการของบริษัทใด ใครเป็นผู้มีอำนาจเซ็นในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทนั้น ต้องประทับตราหรือไม่ ตรวจสอบข้อบังคับ และสัญญาร่วมทุนของบริษัทด้วยว่า ใครมีอำนาจควบคุมบริษัท มีข้อจำกัดการโอนหุ้นให้ทายาทหรือไม่ ปกติสัญญาและข้อบังคับจะห้ามโอนหุ้นให้บุคคลที่สาม ถ้าคู่สัญญาร่วมทุนไม่อนุญาต

ท่านต้องรีบแก้สัญญาและข้อบังคับของบริษัทให้โอนหุ้นให้แก่ผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรมของท่านได้ โดยไม่ต้องได้รับคำอนุญาตจากคู่สัญญา แต่ผู้รับพินัยกรรมและทายาทอาจต้องลงนามผูกพันในสัญญานั้นในฐานะเป็นคู่สัญญาใหม่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าถูกต้องเป็นธรรม

พินัยกรรมธุรกิจอ่านเหมือนสัญญาร่วมทุน

เรื่องผู้รับพินัยกรรมชื่ออะไร ได้ทรัพย์สินรายการใดบ้าง ได้หุ้นบริษัทใด และตำแหน่งบริหารใด มีอำนาจควบคุมและลงนามแทนบริษัทหรือไม่ มีอำนาจกำหนดองค์ประชุมคณะกรรมการ และองค์ประชุมที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้รับพินัยกรรมคุมการออกเสียงลงมติธรรมดา  51% และมติพิเศษ 75% ได้หรือไม่ อำนาจอะไรตัดสินใจได้เอง อำนาจอะไรต้องขอเสียงอนุมัติคู่สัญญาร่วมทุน มติอะไร ต้องใช้มติพิเศษ มติอะไร ต้องเข้าคณะกรรมการบริหารก่อนที่จะชงเรื่องเข้าคณะกรรมการบอร์ดใหญ่ หรือที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ถ้าเขียนไว้ในตัวพินัยกรรมทั้งหมด ก็คงจะยาวมากอ่านสรุปยาก

ท่านก็อาจทำเป็นรายการเอกสารแนบ ใส่ไว้ให้ละเอียดยิบ ซึ่งทำไปทำมา พินัยกรรมฉบับที่รวมแผนสืบทอดทายาทธุรกิจ อาจมีความหนาและเนื้อหาคล้ายคลึงกับสัญญาร่วมทุน ยิ่งละเอียดยิ่งดี ยิ่งป้องกันความขัดแย้งและการตีความที่ไม่พึงปรารถนาได้

สงสารหลานตัวน้อยๆ

ส่วนลูกหรือลูกของลูก หรือ หลานที่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง ที่ยังเป็นผู้เยาว์ ท่านยิ่งต้องเป็นห่วงให้มาก ทั้งในเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษา ถ้ากลัวพ่อแม่เด็กในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมเช่นบิดา หรือผู้ปกครอง เช่นมารดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะเอาเงินมรดกตามพินัยกรรมไปลงทุนหรือใช้จ่ายอย่างอื่นเสียหมด ก่อนที่หลานจะเรียนจบ มีงานทำมั่นคง ท่านก็ห้ามมิให้พ่อแม่ของเด็กมายุ่งกับทรัพย์สินที่มอบให้เด็กได้ แล้วตั้งผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ ที่ไว้ใจได้เพื่อดูแลทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ก็ได้

หรือถ้ากลัวว่าเด็กโตบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ยังอ่อนโลกจะมีสาวสวยหนุ่มหล่อที่ไหนมาหลอกให้หลง ทำให้เผลอโอนทรัพย์สินให้ไปเสียหมด ก็ทำพินัยกรรมห้ามเด็กโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ยกให้นั้น จนกว่าจะอายุเป็นผู้ใหญ่พอ ที่จะรู้จักโลกรู้จักคนได้มากกว่านี้ก็ทำได้ โดยกฎหมายอนุญาตให้ระบุในพินัยกรรมห้ามโอนได้นานถึง 30 ปีเลยทีเดียว เกินอายุบรรลุนิติภาวะของเด็กผู้เยาว์ไปเสียอีก หรือจะเอาให้แน่ใจแบบสุดขั้วแบบไม่ให้ใครมาหลอกได้ ก็ห้ามโอนตลอดชีวิตก็ยังได้ แต่อย่างหลังนี้นานไป ไม่แนะนำ

ทายาทตามกฎหมายไม่ได้มรดกท่านทุกคน

ถ้าท่านทำพินัยกรรมไม่ละเอียด ครอบคลุมทรัพย์สิน ธุรกิจ ไม่กว้างและลึกพอ  และบรรดาผู้รับพินัยกรรมไม่ครอบคลุมถึงทุกคนที่ท่านเป็นห่วง ท่านต้องทำใจว่า ทรัพย์สินของท่านจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้รับพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม ได้แก่ลูกชาย และลูกสาวของท่าน หรือถ้าเขาจากไปก่อนท่าน ลูกๆของเขาคือหลานตา หลานปู่ หลานย่า หลายยายของท่านก็จะเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับพินัยกรรม คู่สมรสของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้ส่วนแบ่งจากทรัพย์สินนอกพินัยกรรมเท่ากับบุตรของท่าน และคุณพ่อคุณแม่ของท่านเองถ้าท่านอายุยืนกว่าผู้ทำพินัยกรรม ก็จะได้ส่วนแบ่งเท่าคู่สมรส และบุตร

แต่นอกจากนั้น พี่น้องร่วมบิดามารดาของท่านที่คลานตามกันมา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาแต่เล็กแต่น้อย พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาของท่าน ปู่ย่าตายายที่อายุร้อยกว่าปีที่เลี้ยงท่านมาและไม่มีรายได้และคนดูแล ตลอดจนลุงป้าน้าอา ที่อายุ 90 กว่า ที่ช่วยตนเองลำบาก ก็จะไม่ได้ส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกของท่านเลย เพราะเป็นทายาทลำดับท้ายๆ หากจะอุดหนุนจุนเจือญาติผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณเหล่านี้ในยามแก่เฒ่าสังขารร่วงโรยสุขภาพถดถอยมีค่ารักษาพยาบาลสูง ท่านก็ไม่ควรลืมที่จะทำพินัยกรรมให้ท่านผู้อาวุโสเหล่านี้ด้วย

……………………………………………………………………………………………………….

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image