กรมน้ำ เปิดข้อมูล ระยะย่อยสลาย วัสดุธรรมชาติ ทำกระทง
วันที่ 6 พฤศจิกายน นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ตามนโยบายของ รัฐมนตรีทส.ที่ต้องการให้ เรื่องของการลดขยะ เป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะปัญหาขยะ กำลังเป็นวิกฤติของทั่วโลก กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะหน่วยงานที่จัดหาแหล่งน้ำสะอาด ให้ประชาชนเห็นว่า การสร้างการตระหนักรู้ สู่การปฎิบัติ ใต้การดูแลทรัพยากรน้ำไม่ใช่เรื่องยากและทุกคนสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการรณรงค์ ในเทศกาลลอยกระทงที่กำลังมาถึง
“เมื่อดูจากสถิติข้อมูลย้อนหลังของ กรุงเทพมหานครเพียงจังหวัดเดียว พบปริมาณขยะ (กระทง) ที่เก็บได้ใกล้เคียงกันเกือบ 1 ล้านใบของแต่ละปี โดย พ.ศ. 2555 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 916,354 ใบ
( กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 785,061 ใบ, กระทงทำจากโฟม 131,338 ใบ) พ.ศ. 2556 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 865,415 ใบ(กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 757,567 ใบ, กระทงทำจากโฟม 107,848 ใบ)
พ.ศ. 2557 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 982,064 ใบ(กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 885,995 ใบ, เป็นกระทงทำจากโฟม 96,069 ใบ)พ.ศ. 2558 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 825,614 ใบ(กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ, เป็นกระทงทำจากโฟม 71,027 ใบ)พ.ศ. 2559 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 661,935 ใบ(กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ, เป็นกระทงทำจากโฟม 44,034 ใบ)พ.ศ. 2560 ปริมาณกระทง รวมทั้งสิ้น 811,945 ใบ(กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ, เป็นกระทงทำจากโฟม 51,926 ใบ)”นายภาดล กล่าว
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า เราไม่อาจปฎิเสธความเชื่อ ประเพณีอันสวยงาม ที่มีมาตั้งแต่บรรพกาล ได้ แต่สิ่งที่ประชาชนทุกคนร่วมด้วยช่วยกันได้ คือ การเลือกใช้วัสดุของกระทง เพราะกระทงไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ต่างก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ในลักษณะที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัสดุทำกระทง ได้แก่ กระทงที่ทำจากขนมปัง โคนไอศครีม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วันกระทงที่ทำจากกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือนกระทงที่ทำจากโฟม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 50 ปีนอกจากนี้ การใช้แนวคิดที่ดี สู่การปฎิบัติ เช่น แนวคิด 1 กระทง 1 ครอบครัว หรือ 1 หน่วยงาน 1 กระทง อีกแนวทางสำหรับ คนรุ่นใหม่ คือ ลอยกระทงออนไลน์ น่าจะเป็นอีกตัวช่วยดูแลแหล่งน้ำสะอาดให้คงอยู่อย่างยั่งยืน