“ไพบูลย์”ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอศาลรธน.วินิจฉัยกมธ.ปราบทุจริตฯเรียก“ประยุทธ์ – ประวิตร”ชี้แจงได้หรือไม่(ชมคลิป)

“ไพบูลย์”ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอศาลรธน.วินิจฉัยอำนาจกมธ.ปราบทุจริตฯ ออกคำสั่งเรียก “ประยุทธ์ – ประวิตร”ชี้แจงได้หรือไม่ อ้างรธน. 60 ไม่เปิดช่อง หวั่นกมธ.ทำผิดกฎหมาย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของส.ส.และส.ว. พ.ศ. 2554 มาตรา 5 ,8 และ 13 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 เนื่องจากเห็นว่าเดิมรัฐธรรมนูญ 2550  มาตรา 135 ได้บัญญัติให้คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจออกคำสั่งเรียกและคำสั่งเรียกมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ยกเลิกอำนาจของคณะกรรมาธิการฯ ในการออกคำสั่งเรียก และยกเลิกการให้คำสั่งเรียกมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ คณะกรรมาธิการฯจึงอำนาจเพียงเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาชี้แจงแต่ไม่ใช่การออกคำสั่งเรียก ดังนั้นการที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป.ป.ช.จะออกคำสั่งเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงนั้น หากกระทำจริงจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231(1)เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเหตุขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 129 จึงใช้บังคับไม่ได้

นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจฯในวันนี้แล้วจะนำสำเนาหนังสือที่ยื่นและหนังสือตอบรับไปยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานผู้เทนราษฎรเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำไปเตือนประธานกรรมาธิการป.ป.ช. และประธานกรรมาธิการฯชุดต่างๆ ว่าให้ระงับการดำเนินการออกคำสั่งเรียกบุคคลมาชี้แจง ซึ่งตนเห็นว่าต้องนำเรื่องดังกล่าวมายื่นให้ผู้ตรวจฯเพราะปัจจุบันอำนาจในการเชิญบุคคลหรือเรียกบุคคลมาชี้แจงของรัฐธรรมนูญเก่าและใหม่ต่างกัน ซึ่งการเรียกบุคคลมาชี้แจงของกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีผลบังคับแต่เป็นลักษณะการขอความร่วมมือจากบุคคลนั้นที่จะมาชี้แจงเองหรือส่งเอกสารชี้แจง

เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจฯพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการปกป้องนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายไพบูลย์ชี้แจงว่า การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจฯ เป็นการดำเนินการด้วยความเป็นห่วงว่ากรรมาธิการฯจะกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อยากให้ทุกฝ่ายทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยากเห็นผู้ใดถูกดำเนินคดี

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image