‘เรื่องอ่านเล่น’ ในเมืองไทย เมื่อไรจะอ่านจริงเสียที : โดย วิภาพ คัญทัพ

เรื่องราวใน “หนังสือ” กล่าวกันว่า คนไทยไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกันเท่าไรนัก

บ้างว่าเป็นสังคมไทยเป็นสังคมตาดูหูฟัง

แม้ธรรมะก็สนใจฟังมากกว่าการอ่าน ชาวพุทธไม่นิยมมานั่งอ่านพระไตรปิฎกเหมือนที่ชาวคริสต์นิยมอ่านคัมภีร์ไบเบิล

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า คนบ้านเราไม่ชอบอ่านอะไรจริงจัง ชอบอ่านเล่นมากกว่า

Advertisement

ดังนั้น การ์ตูนขำขัน เรื่องตลก เรื่องสยองขวัญ เรื่องรักใคร่ จึงครองใจคนไทยเสมอมา

และเราจึงมีคำเรียกนวนิยาย (Novel) ว่า “เรื่องอ่านเล่น”

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สะท้อนความคิดเกี่ยวกับ “เรื่องอ่านเล่น” ไว้ในนวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของท่านเมื่อร่วมร้อยปีมาแล้ว ดังนี้

Advertisement

…“จริง บ๊อบบี้ ฉันเห็นด้วย” มาเรียตอบ “ปลูกความนิยม (Advertise) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการกระทำที่สำเร็จทั้งหลายแหล่ และบางทีที่เมืองไทยอาจมีใครเขียนเรื่องอ่านเล่น (Novel) ชนิดที่เป็นแก่นสารอยู่เพียงสองสามเล่มเท่านั้นก็ได้”

“มาเรีย” ข้าพเจ้ากล่าวชมเชย “เธอยังเด็กอยู่มาก แต่เธอรู้เรื่องเมืองไทยดีพอใช้ ฉันแปลกใจเหลือเกินตามที่เธอบอกว่า เมืองไทยมีเรื่องอ่านเล่นชนิดที่เป็นแก่นสาร อยู่เพียงสองสามเล่มเท่านั้น ใกล้ความจริงมาก”…(ละครแห่งชีวิต/พ.ศ.2556 หน้า 162 / “บ๊อบบี้” หมายถึงชื่อเรียกเมื่ออยู่ในต่างประเทศของตัวละครคนไทยนาม วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา : ผู้เขียนบทความ)

วัฒนธรรมการอ่านในบ้านเรา อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เริ่มมาอย่างไม่ดีนัก เพราะหนังสือแปลในยุคแรกนั้นก็เป็นแนวเริงรมย์เป็นส่วนมาก หรือบ้างเรียกว่าแนวสำเริงอารมณ์ นักเขียนนวนิยายรุ่นบุกเบิกที่พยายามเสนอแก่นสารของชีวิต เช่น ดอกไม้สด, ศรีบูรพา และหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามเขียนนวนิยายแบบมีแก่นสารน่าสนใจ

หรือกล่าวอย่างสั้นคือ พยายามมุ่งยกระดับจิตใจคน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บ้างเรียกว่าประเทืองปัญญา แต่พัฒนาการของนวนิยายแนวประเทืองปัญญานี้กลับไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

นวนิยายแนวสำเริงอารมณ์ก้าวหน้าไปกว่ามาก จนทุกวันนี้การแปรรูปจากนวนิยายมาในสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ยังได้แก่นวนิยายแนวสำเริงอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายรัก ทำนองหญิงหลายคนแย่งความรักจากชายคนเดียว ได้รับความนิยมสูงสุด เพียงแต่ผู้ประพันธ์เปลี่ยนรายละเอียดของเรื่องราวไป รายละเอียดดังกล่าว ได้แก่ บุคลิกของตัวละคร ฉาก หรือปมขัดแย้ง เป็นต้น

ปัจจุบันมีปรากฏการณ์ก้าวหน้าของนวนิยายแนวสำเริงอารมณ์เพิ่มเติมเข้ามาอีก กล่าวคือนักเขียนนวนิยายขายดีและเป็นที่ต้องการของสำนักพิมพ์ ได้แก่ นักเขียนกลุ่มที่เขียนนวนิยายรักแบบชายรักชาย และแทบไม่น่าเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนประเทศญี่ปุ่น จนมีการกล่าวถึงเนื้อหาแบบนี้ว่า “yaoi” ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น กล่าวคือ Nutsuyaoi หมายถึงเรื่องราวแบบชายรักชาย

หรือเรียกอย่างสั้นแบบคนไทยว่า “นวนิยายวาย” อันกำลังได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านวัยรุ่น บ้างถึงกับกล่าวว่าหนังสือแนวนี้ขายดีที่สุดในเวลาที่หนังสือแนวอื่นกำลังขายไม่ออก และยังมีบางสำนักพิมพ์ที่เกิดขึ้นได้จากการพิมพ์นวนิยายวาย

นอกจากนี้ยังมีนวนิยายแนวหญิงรักหญิง ที่เรียกว่า yuri ซึ่งพัฒนามาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

น่าแปลกใจที่วัยรุ่นไทยชื่นชมเรื่องราวแบบชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง ซึ่งมีทั้งที่เป็นหนังสือ และที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์จำนวนมาก ถ้าสันนิษฐานก็คงเป็นเพราะความต้องการทางเพศเป็นตัวผลักดันให้อยากจะติดตามเรื่องราวโลดโผนที่ลงท้ายก็คือการเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์กัน ส่วนที่ชื่นชอบให้ชายรักชาย อาจเป็นหญิงที่รักชายหรือชายที่รักชาย และต้องการติดตามความพฤติกรรมโลดโผนทางเพศของชายซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่กว่า แต่ส่วนที่ชื่นชอบหญิงรักหญิงน่าจะเป็นกลุ่มเล็ก จะอย่างไรก็ตามผู้เขียนเคยสอบถามผู้ที่สนใจอ่านนวนิยายวาย รวมถึงพยายามหาคำตอบจากสื่อต่างๆ พบว่าเหตุผลที่สนใจอ่านนั้น พอสรุปได้เป็นคำตอบได้ 7 ประการ ดังนี้

1 มีใจกว้างออก มองว่าความรักเป็นเรื่องสวยงาม ไม่จำกัดเพศ

2 มีแนวคิดว่าคู่ชีวิตไม่ได้หมายเพียงแค่การมีทายาทเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์

3 รำคาญหรือเบื่อหน่ายพฤติกรรมของ “ตัวละครหญิง” ในนวนิยายที่มักแสดงความเป็นหญิงแบบซ้ำซาก

4 ตื่นเต้นกับตัวละครชายในหลากหลายรูปแบบ ทำนองเดียวกับที่ชายชอบดูตัวละครหญิง

5 เบื่อหน่ายการแสดงออกความรักแบบชายหญิงในนวนิยายที่ดูโง่เขลา

6 หญิงรักชายรู้สึกว่า การอ่านเรื่องชายรักชาย หรือหญิงรักหญิงนั้น ได้ปลดปล่อยอารมณ์รักใคร่ของตนโดยไม่รู้สึกผิด เหมือนเมื่อไปอ่านเรื่องหญิงรักชาย หรือชายรักหญิง

7 ความเป็นหญิงในร่างกายชาย หรือความเป็นชายในร่างกายหญิงนั้น เป็นความตื่นเต้นอีกแบบหนึ่งที่ชวนติดตาม

เหตุผลอื่นๆ นอกจากนี้อาจจะมีอีก ดังนั้นเรื่องอะไรก็ตามที่มีขึ้นเพื่ออ่านเล่นจึงยังคงมีความน่าสนใจต่อไป

เกือบร้อยปีมาแล้วที่นักเขียนไทย เช่น หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สะท้อนเรื่องนวนิยายไทยไร้แก่นสารไว้ โดยผ่านสายตาของตัวละครชื่อ “มาเรีย” ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ

ไม่รู้ว่าปัจจุบันจะมีชาวต่างชาติ “ตัวจริง” ซึ่งไม่ใช่ “ตัวละคร” มองปรากฏการณ์การอ่านหนังสือในเมืองไทยด้วยความรู้อย่าง “มาเรีย” อีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความจริงควรจะได้ตั้งคำถามกันเสียทีว่า นวนิยายไทยที่มีแก่นสารควรจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น ปรากฏการณ์นี้…น่าจะทำให้ชวนคิดเรื่องนอกเหนือนวนิยายได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ซึ่งก็จะมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาต่างหากไปอีกอย่างหนึ่ง

วิภาพ คัญทัพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image