‘ดีอีเอส’​ ชี้ ปี65 ‘60%’ ของจีดีพีมาจาก ‘ธุรกิจดิจิทัล’​ เชื่อคนไทยพร้อม ‘ปรับตัวเก่ง’

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ กล่าวปาฐกาในงาน กรุงศรี บิสซิเนส ฟอรั่ม 2019 ว่า การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ​ ทุกอุตสาหกรรม​ แม้ปัจจุบันหลายภาคส่วนจะมีความกังวลอยู่มาก แต่จะต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ข้อมูล​จากหลายหน่วยงาน พบว่า ปัจจุบันประเทศไทย​มีจำนวนประชากร ทั้งสิ้น 66.4 ล้านคน ขณะที่ ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรสูงถึง 187% โดยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับอินเตอร์เน็ตถึง 108% และมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ถึง 82% ดังนั้น​ จึงเชื่อว่า คนไทยมีความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลง​ของเทคโนโล​ยี​ที่จะเกิดขึ้น​

“มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2565 หรือปี 2022 จำนวน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)​ ของประเทศ​ จะมาจากธุรกิจ​ที่เกี่ยวข้อง​กับดิจิทัล ซึ่งมี 4 กลุ่ม​​ที่ได้รับประโยชน์​ ได้แก่ 1.ภาคธุรกิจ 2.ภาคประชาชนและสังคม 3.การทำวิจัย และพัฒ​นาด้านนวัตกรรม​ และ 4.ภาครัฐ​ ซึ่งในปี 2563 ทุกหน่วยงาน​ภาครัฐ​ ต้องใช้คลาวด์เดียวกัน โดยมีการเก็บดาต้าเซ็นเตอร์ ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้งบประมาณที่เดิมทุกหน่วยงานต่างคนต่างใช้” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2563 แต่ จากการหารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอ​เปอเร​เตอร์)​ หลายรายยังคงติดปัญหา​เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนในระบบ 4G ที่ปัจจุบัน​ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน​ ทำให้​เกิดความลังเลในการลงทุน 5G เพราะการลงทุนด้านเทคโนโลยี​จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 20-25 ปี ถ้าหากไทยไม่ดึง 5G​ มาใช้ คาดว่า นักลงทุนจะต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ​อื่นๆ แน่นอน และกว่าที่นักลงทุนจะหันกลับมาลงทุนไทยอีกครั้ง ต้องรอไปอีก 25 ปี ถึงตอนนั้นไทยคงสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว

Advertisement

นายพุทธิพงษ์ กล่าว​ว่า ​ซึ่งหาก 5G ไม่เกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ จะทำให้ประเทศ​ไทยล่าหลังกว่าประเทศ​อื่น โดยเฉพาะ​ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย​ รวมถึง​ฟิลิปปินส์​ และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ​นั้นๆ แทน แต่การขับเคลื่อนไปสู่ 5G รัฐบาลจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะ 5G จะไม่เกิดประโยชน์เฉพาะกับเรา แต่จะเกิดประโยชน์กับลูกหลานของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า​ ซึ่งหาก 5G​ ไม่เกิดขึ้นประเทศไทย​จะต้องสูญเสียเม็ดเงินในการลงทุน​นับล้านล้านบาท หรืออาจทำให้ลูกหลานเราต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศ​เพื่อนบ้านแทน

นอกจากนี้ เมื่อมีการขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลแล้วต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บนโลกออกไลน์ด้วย ซึ่งในภาคการเงินการธนาคาร ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสได้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ในวาระเริ่มแรก) ตามข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ)​พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยตามหลักการเหตุผลและความจำเป็นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลจากการถูกละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล

“สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ สามารถตอบโจทย์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันช่วยปลดล็อกให้ธุรกิจและหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายใต้มาตรฐานสากล แก้ปัญหาการไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร เพราะติดกับข้อติดขัดที่ไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ที่ผ่านมามีอุปสรรคอย่างมากในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image