‘กสทช.’ บีบ ‘ทีโอที’ เคลียร์โครงการเน็ตชายขอบ หวัง ‘อี-บิดดิ้ง’ ใหม่ เม.ย.63

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กสทช. มีหนังสือยกเลิกสัญญา โครงการบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือเน็ตชายขอบ โซนซี+ กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา และทีโอทีได้ตั้งคณะกรรมการชุดเล็กประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจรับ เพื่อสรุปพื้นที่ที่ใกล้เสร็จและสามารถส่งมอบได้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำเข้าคณะกรรมการตรวจรับชุดใหญ่ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกัน กสทช. ไม่สามารกยกเลิกคำสั่งการยกเลิกสัญญาได้ แต่ให้ทีโอทีนำพื้นที่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ หรือเหลือการทำงานอีกเพียง 20% เพื่อดำเนินการต่อให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ส่วนที่ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดเงื่อนไขสัญญาและผิดสเปคต้องส่งมอบคืนให้ กสทช. เพื่อให้ กสทช.นำพื้นที่ดังกล่าวให้เอกชนรายใหม่ ที่สนใจเข้าร่วมประมูลประเมินราคาและเสนอเข้ามาใหม่ในระบบการประมูลแบบอี-บิดดิ้ง คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2563 จะสามารถเปิดประมูลอี-บิดดิ้งได้

“การที่ กสทช. ต้องการให้ผู้เข้าร่วมประมูลรายใหม่ประเมินราคาเองนั้น จะทำให้กระบวนการอี-บิ้ดดิ้ง เร็วขึ้น หากให้ กสทช. ประเมินอาจจะล่าช้า เอกชนที่เข้ามาย่อมเข้าใจและประเมินได้ หากมีปัญหาก็ให้ดำเนินการเคลียร์กับทีโอทีโดยตรง หากผู้ชนะรายใหม่จะใช้อาคารยูโซ่เดิมของทีโอที ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูกสเปค ก่อนส่งมอบงานให้ กสทช. โดยทีโอที ดำเนินการก่อสร้างอาคารยูโซ่แล้วเสร็จจำนวน 16 แห่ง คณะกรรมการตรวจรับงานได้จำนวน 3 แห่ง จากอาคารยูโซ่ ที่ต้องก่อสร้างจำนวน 371 แห่ง” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ ภาพรวมของโครงการทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ของทีโอที ต้องเปิดให้บริการตามเดิม ไม่สามารถรอโครงการของทีโอทีแล้วเสร็จพร้อมกันแล้วจึงค่อยเปิดให้บริการ เนื่องจากเอกชนรายอื่นทำตามสัญญาและต้องมีการรับมอบและจ่ายเงิน แต่สำหรับประชาชนผู้ลงทะเบียนสวัสดิการรัฐ หรือผู้มีรายได้น้อย ที่จะใช้สิทธิ์ในการเชื่อมต่อเข้าครัวเรือนเดือนละ 200 บาท กว่า 70,000 ครัวเรือนนั้น ต้องรอให้โครงการของทีโอทีเก่าและโครงการที่จะได้เอกชนรายใหม่มาทำต่อให้เสร็จก่อน ถึงจะเปิดให้บริการพร้อมกันได้ ไม่เช่นนั้นจะสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมและเริ่มนับหนึ่งในการให้สิทธิในการใช้ค่าบริการราคาดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี ไม่เท่ากัน

Advertisement

สำหรับโครงการที่ ทีโอที ชนะการประมูลประกอบด้วย 3 สัญญา วงเงินรวม 6,486.39 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ได้แก่ 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคเหนือ มูลค่า 2,103.80 ล้านบาท 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 2,492.59 ล้านบาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มูลค่า 1,899.99 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image