ดีแทคชี้ 3 ข้อเสนอเชิงนโยบาย เส้นทางสู่การพัฒนา 5G ในไทย : โดย อเล็กซานดรา ไรช์

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดข้อมูลจากการศึกษากรณี 5G โดยประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศคลื่นลูกแรกที่ได้ทดลองใช้และเริ่มใช้งาน 5G ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินแนวทางพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้อย่างยั่งยืนที่สุด และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์แรงกดดันสูง รวมทั้งเรื่องการเงินการลงทุนอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาและเปิดตัวเทคโนโลยี 5G ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมของไทยที่พึ่งพาบริการโทรคมนาคม

1.การวางแผนและจัดสรรคลื่นความถี่เป็นหัวใจสำคัญ-เริ่มต้นด้วยแผนจัดสรรคลื่นความถี่

เทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยส่วนคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ ที่หลากหลาย จำนวนมาก สิ่งสำคัญประการแรกคือ ประเทศไทยต้องประกาศแผนจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดโดยเร็วและชัดเจน แผนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและทำให้ผู้ให้บริการมีข้อมูลสำหรับวางแผนการลงทุน นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถทดสอบตัวอย่างการใช้งานจริงร่วมกับภาครัฐ ประการสุดท้าย รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ในราคาที่เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมถือครองคลื่นได้ตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสำเร็จของเทคโนโลยี 4G และ 5G ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องให้นำคลื่นความถี่ 5G ออกสู่ตลาดเร็วเกินควร แต่คือโอกาสที่จะกำหนดช่วงเวลาในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่านต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในยามที่จำเป็นต้องเข้าถึงคลื่นเหล่านั้น

หากเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศ อื่นๆ การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับทดลองจะช่วยเร่งให้เกิดกระบวนการทดสอบตัวอย่างการใช้งาน และเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมีอิสระในการปรับเปลี่ยนวิธีทดสอบที่เหมาะสม

Advertisement

ถึงที่สุดแล้ว การประมูลที่มีเงื่อนไขเป็นธรรมและราคาตั้งต้นที่สมเหตุสมผลจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำคลื่นความถี่ในย่านที่เหมาะกับเทคโนโลยี 5G และก่อน 5G ออกสู่ตลาด แม้การจัดสรรคลื่น 700 MHz จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ทว่าผู้ให้บริการต่างเห็นพ้องว่าช่วงเวลาในการปล่อยคลื่นนั้นเร่งรัดเกินไป

ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องการความชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ ในเรื่องคลื่นความถี่ที่จะนำมาจัดสรร วันที่จัดสรร และจำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรได้ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนบริหารจัดการชุดคลื่นความถี่ของตนในอนาคต ซึ่งในกรณีของ 5G นั้นจำเป็นต้องมีส่วนผสมของคลื่นความถี่ที่หลากหลาย หากขาดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจนแล้ว ผู้ให้บริการย่อมไม่สามารถวางแผนทดลองตัวอย่างการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงไม่สามารถกำหนดสมดุลของคลื่นความถี่ได้อย่างเหมาะสม ทางเลือกเฉพาะกาลที่ทำได้คือ การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับทดลองใช้เพื่อผลักดันให้มีการทดสอบตัวอย่างการใช้งานจริง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับรัฐบาล

ประการสุดท้าย การประมูลคลื่นความถี่ต้องได้รับการออกแบบอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดราคาเริ่มต้นที่เหมาะสม เราได้บทเรียนจากการประมูลครั้งก่อนหน้า เช่น การประมูลคลื่น 900 MHz ว่าราคาเริ่มต้นที่สูงเกินไปส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุนของผู้ให้บริการ และสุดท้ายก็จบลงที่มาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้คลื่นความถี่ 5G ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากกรณีของคลื่น 3G และ 4G

Advertisement

การอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G นั้นไม่ควรมีข้อกำหนดเรื่องการครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการ ผู้ให้บริการจะได้เลือกลงทุนในพื้นที่ที่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์และสนับสนุนการพัฒนาตัวอย่างการใช้งาน การที่ผู้ให้บริการสามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่จะเปิดบริการ 5G ได้อย่างอิสระยังสร้างประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศอีกด้วย

2.รัฐบาลควรกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

เรายังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดรากฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา 5G อย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่เราให้ความสำคัญอันดับต้นๆ คือการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และการลดขั้นตอนยุ่งยากในกระบวนการเปิดใช้งานโครงข่ายและการเช่าโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น กรณีที่กระทรวงสามแห่งของนอร์เวย์ประกาศระเบียบข้อบังคับซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เกี่ยวกับการวางสายเคเบิลตามถนนสาธารณะ (รวมถึงอุโมงค์และสะพาน) โดยก่อนหน้านี้แต่ละเขตปกครองในนอร์เวย์มีกฎระเบียบและโครงสร้างต้นทุนแตกต่างกันไป ซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง

สำหรับประเทศไทย สำนักงาน กสทช.ควรพิจารณาว่าการใช้เครือข่ายร่วมกันจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง ซึ่งรวมถึงการใช้เครือข่ายกลุ่มอุปกรณ์สถานีฐาน (Radio Access Network-RAN) ร่วมกันในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด การสร้างเครือข่ายที่หนาแน่นขึ้นเพื่อรองรับบริการ 5G ทำให้เราจำเป็นต้องมีกรอบแนวทางชัดเจนในการสร้างหอส่งสัญญาณและวางตำแหน่งเสาสัญญาณขนาดเล็ก ซึ่งอาจรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่มีอยู่แล้ว เช่น เสาโทรศัพท์หรือเสาไฟ

ในเบื้องต้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือการอนุญาตให้เข้าถึงที่ดินและอาคารสาธารณะเพื่อติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็กและโครงข่ายชุดใหม่ รวมทั้งอนุญาตให้เข้าถึงเสาไฟหรือเสาโทรศัพท์ที่เป็นสมบัติสาธารณะเพื่อเพิ่มความหนาแน่นของเครือข่ายในเขตเมือง

3.ความร่วมมือคือหัวใจสำคัญของการพัฒนา 5G

แผนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องมุ่งเน้นไปที่การทดลองใช้งาน 5G หากรัฐบาลช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ เทคโนโลยี 5G ย่อมออกสู่ตลาดได้ในไม่ช้า ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมถึงการผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะและการใช้งาน 5G ในภาครัฐ หากภาครัฐปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อศึกษาว่าทั้งสองฝ่ายมีความสนใจในตัวอย่างการใช้งานใดที่สอดคล้องกัน เราก็จะค้นพบโอกาสใหม่ๆ ที่เทคโนโลยี 5G มอบให้

รูปแบบการทดลองในอนาคต ซึ่งไปไกลกว่ากลไกความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน จะเป็นกุญแจสำคัญในการพิสูจน์ตัวอย่างการใช้งานในชีวิตจริง สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มโครงการทดลอง หรือไม่ก็อาจเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ผ่านความร่วมมือของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุตสาหกรรมคู่ค้าในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเหล่านี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากการทดลองไปสู่การใช้งาน 5G ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การเปิดให้บริการ 5G ในไทยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะเริ่มใช้ 5G ได้พร้อมกับบรรดาประเทศผู้บุกเบิกเทคโนโลยี 5G เพียงแต่ข้อเสนอข้างต้นจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อผลักดันการเติบโตของทุกภาคส่วน

5G ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทโทรคมนาคมเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และสังคมโดยรวม

ประเทศไทยต้องพัฒนา 5G อย่างระมัดระวังและละเอียดรอบคอบ ต้องยึดมั่นในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศซึ่งต่อยอดจากการทดลองใช้ 5G ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และต้องไม่ลืมที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นวาระแห่งชาติ

อเล็กซานดรา ไรช์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image