กรมศุลฯ เผยรายได้เดือนแรกปีงบ 63 ต่ำเป้า 1.1% เร่งเชื่อมโยงข้อมูลอาเซียน ดึงอีคอมเมิร์ซลงทุนอีอีซี

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2562 เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 กรมศุลกากร สามารถจัดเก็บรายได้ 5.21 หมื่นล้านบาท หากดูเฉพาะรายได้ที่จัดเก็บของกรมศุลกากรพบว่ามีจำนวน 8.70 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.1 % หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 99 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น 4.34 หมื่นล้านบาท

นายชัยยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมศุลกากรยังรายงาน ความก้าวหน้าของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) และการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW)  โดยผลการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากรกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) ประมาณเดือนละ 10 ล้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 9,000 ราย ซึ่งดำเนินการแทนผู้นำเข้าส่งออกของกว่า 1 แสนราย

นายชัยยุทธ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 นี้ คือ โครงการระบบคำขอใบอนุญาต/ใบแจ้งเพื่อนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรแบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 ส่วนการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASW มีการเชื่อมโยงข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศในอาเซียน หรือ ATIGA FORM D เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสารแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, บรูไน และกัมพูชา โดยคงเหลืออีก 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา, ฟิลิปปินส์ และลาว

นายชัยยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมยังเตรียมความพร้อมการแลกเปลี่ยนเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม  เช่น เอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate) สำหรับใช้แลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยของพืชและผลิตผลพืช ตามที่ไทยแจ้งความพร้อมกับประเทศสมาชิกอาเซียน คาดว่าไทยจะเข้าร่วมทดสอบภายในไตรมาสแรกของปี 2563 และใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document: ACDD หรือ Export Information) ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนเพื่อการบริหารความเสี่ยงโดยศุลกากรประเทศนำเข้า โดยไทยเริ่มต้นทดสอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562

Advertisement

นายชัยยุทธ กล่าวว่า  ทั้งนี้กรมฯ ออกประกาศกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาค ที่ผ่านมาซึ่งเป็นระเบียบเกี่ยวกับเขตปลอดอากรตามกฎหมายศุลกากร สำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าอีคอมเมิร์ช ในเขตอีอีซี ซึ่งประกาศกรมฯ กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ลงทุนไว้ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนเพียงรายหนึ่งรายใดเท่านั้น

นายชัยยุทธ กล่าวว่า  ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนในเขตอีอีซี จะได้รับตามร่างประกาศกรมฯ คือ 1. ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเป็นพิธีการศุลกากรที่สะดวกเรียบง่าย ให้จัดทำใบขนสินค้าอย่างง่ายตามแบบที่กำหนด 2. ดำเนินการด้วยความรวดเร็วทันสมัย โดยนำใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้งาน ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยี QR CODE ในการบันทึกข้อมูลสินค้า การตรวจสอบสินค้าด้วยการเอกซเรย์บนระบบสายพาน การจัดทำบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory) เป็นต้น 3. ได้รับยกเว้นใบอนุญาตสำหรับสินค้าที่นำเข้าเก็บในเขตปลอดอากร EEC และ 4. ยังไม่ต้องชำระค่าอากรขาเข้าทันที ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประกาศกำหนดไว้

นายชัยยุทธ กล่าวว่า  ทั้งนี้ผู้ส่งออกสินค้าอีคอมเมิร์ช ในไทยผ่านทางเขตอีอีซี จะได้รับตามร่างประกาศกรมฯ คือ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าอีคอมเมิร์ชในไทย เช่น โอท็อปให้ไปขายยังต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นสากล เพื่อให้เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image