“กุลิศ”สั่งกฟผ.ตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ดึงสหภาพร่วมทีม

“กุลิศ”สั่งกฟผ.ตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หวังทำแผนปรับตัว5-10ปี ดึงสหภาพฯร่วมทีม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน EGAT Energy Forum 2019 ซึ่ง จัดโดยกฟผ. ว่า ได้สั่งการให้บอร์ดกฟผ. ผู้บริหารกฟผ. และสหภาพกฟผ. ตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างกฟผ.ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต รับมือกับยุคดิสรัปชั่นได้ โดยคณะทำงานฯ จะดึงพนักงานกฟผ.รุ่นใหม่ ที่กฟผ.ได้ฟอร์มทีมไว้มาร่วมทำงานด้วย และคณะทำงานนี้จะจัดทำรายละเอียดการปรับโครงสร้างด้านต่างๆ ธุรกิจอนาคตที่กฟผ.จะดำเนินการ และเสนอบอร์ดกฟผ.พิจารณาปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นต้องการให้แผนดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 5-10 ปี เพราะต้องการให้เห็นผลงานชัดเจน เป็นรูปธรรม จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อรับทราบแผนดำเนินการด้วย

“ปัจจุบันพนักงานกลุ่มนี้ได้ทำงานศึกษาวิจัยชิ้นงานใหม่ๆอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีต่อยอดในภาพรวม ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กฟผ.เริ่มปรับโครงสร้างแล้วแต่ยังไม่เป็นรูปธรรม ดังนั้นจะดำเนินการในภาพรวม อย่างการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อรองรับธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ(เทรดดิ้ง) บอร์ดกฟผ.ได้หารือเบื้องต้นแล้วแต่ยังต้องหารือในรายละเอียดถึงการจัดตั้งว่าจะเป็นลักษณะของหน่วยธุรกิจ(บียู) หรือในรูปแบบบริษัท เพราะสหภาพฯก็กังวลว่าจะกลางเป็นการแปรรูปหรือไม่ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่น อาทิ รถไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงต่างๆ จะเดินหน้าอย่างไร”

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการหารายได้เพิ่มขึ้นโดยให้บริการบริหารจัดการและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้ากังหันลมและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว รวมถึงจัดตั้งบริษัทด้านนวัตกรรมไฟฟ้าที่เป็นสตาร์ตอัพ

Advertisement

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 กกพ.จะปรับปรุงกฏหมายหลัก 35 ฉบับเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ธุรกิจพลังงานในปัจจุบัน อาทิ ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติที่อาจแยกเป็น 2 ใบ คือ การส่งทางท่อและทางรถยนต์ สำหรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติต้องอยู่ที่ระดับนโยบายว่าจะทำอย่างไรให้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์ภาคประชาชน) ขณะนี้มีผู้สนใจยื่นไม่ถึง 5 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ปีนี้ ต้องรอนโยบายเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image