พณ.โชว์ 8เดือนใช้สิทธิเอฟทีเอกว่า4.5 หมื่นล้านดอลล์ อาเซียนครองแชมป์

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA)ช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 (ระหว่างเดือนม.ค.-ส.ค.) 45,175.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 78.94% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่า 57,230.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ลดลง 3.30% เป็นไปตามทิศทางการส่งออกของไทย (ลดลง 2.20%) เนื่องจากการส่งออกไปยังบางตลาดยังคงลดลงสะสมจากเดือนที่ผ่านมา ผลมาจากปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยด้านสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อจากการเจรจาที่ยังไม่สำเร็จ ภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าชะลอตัว และค่าเงินบาทที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น

นายกีรติ กล่าวว่า ช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 16,579.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. จีน มูลค่า 12,574.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 5,391.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 5,102.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 5.อินเดีย มูลค่า 3,019.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิ พบว่าตลาดขยายตัวสูงสุดคือ เปรู ขยายตัว 22.42% รองลงมาคือ นิวซีแลนด์ 7.88% และจีน 5.78% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-ชิลี 97.69% 2. อาเซียน-จีน 97.40% 3.ไทย-เปรู 92.37% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 89.98% และ 5. อาเซียน-เกาหลี 84.11% สำหรับรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย

นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิ FTA ลดลง เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ 1. ตลาดอาเซียน ลดลง 7.14% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ เป็นต้น 2. ตลาดออสเตรเลีย ลดลง 13.89% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น 3. ตลาดชิลี ลดลง 31.05% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถบรรทุก (ดีเซล หรือกึ่งดีเซล) ปลาทูน่า เครื่องซักผ้า เป็นต้น และ 4. ตลาดเกาหลี ลดลง 2.75% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เศษอะลูมิเนียม แผ่นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด และยางธรรมชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิ FTA ในภาพรวมจะลดลง แต่ยังมีตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกและมีการใช้สิทธิขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง เช่น เปรู นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

นายกีรติ กล่าวว่า ปี 2563 กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแต้มต่อและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยกรมมีกำหนดจัดสัมมนาให้ความรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีการออกหนังสือรับรอง เช่น หนองคาย เชียงราย สงขลา เป็นต้น ซึ่งจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจสำหรับผู้ประกอบการในเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งแต่เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง FTA การตรวจรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของกรม เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image