วันที่ไร้คลื่นในมือ ควบรวม’แคท-ทีโอที’ เดินหน้าลุย 5จี

วันที่ไร้คลื่นในมือ
ควบรวม’แคท-ทีโอที’
เดินหน้าลุย 5จี
———————
แผนการควบรวมสองรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความพยายามดำเนินการกันมาเป็นทศวรรษแล้ว

เริ่มตั้งแต่สมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดิมมีแนวคิดที่จะควบรวบกิจการเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และต้องการเพิ่มศักยภาพทั้งสององค์กรให้แข่งขันกับเอกชนได้ เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจเสรีที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ทำไม่สำเร็จเนื่องจากถูกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งสองหน่วยงานออกโรงคัดค้านอย่างหนักหน่วง

ต่อมาในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายควบรวบอีกครั้ง เนื่องจากทีโอทีเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน จึงมีนโยบายควบรวมกิจการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท คือ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (เอ็นบีเอ็น) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตจำกัด (เอ็นจีดีซี) เพราะเห็นว่ามีการนำทรัพย์สินโครงข่ายจากบริษัทเดิมเพื่อนำไปขายต่อในลักษณะขายส่งนั้น จะมีผลต่อการขยายและพัฒนากิจการโทรคมนาคมของรัฐ ทั้งจะไม่ตอบโจทย์การลดความซ้ำซ้อน

Advertisement

แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ได้เห็นชอบการควบรวมทีโอที-แคท โดยตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที ซึ่งตามแผนงานต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ด้วย ทำให้ต้องชะลอการเสนอเข้า ครม.ออกไปก่อน

ครั้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุม คนร.ยังมีมติเร่งรัดการควบรวมกิจการทีโอที-แคท ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่งไม้ต่อมาให้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสหมาดๆ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ต้องนำเรื่องนี้มาเขย่าอีกครั้ง กระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ครม.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ คนร. โดยให้กระทรวงดีอีเอสไปพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

และจากการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที, กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแคท โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสนั่งหัวโต๊ะ 2 ครั้ง พบว่า แผนการควบรวมกิจการที่ต้องได้ข้อสรุปร่วมกันใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แผนบริหารจัดการบุคลากร 2.สินทรัพย์และหนี้สิน และ 3.สัญญาและสัมปทานต่างๆ ยังไม่คืบหน้าไปไหน

Advertisement

โดย พุทธิพงษ์ ระบุว่า ความคืบหน้าที่ออกมาควรจะมีรายละเอียดชัดเจนมากกว่านี้ อาทิ กรอบการทำงานที่จะนำไปใช้หลังควบรวมกิจการ, เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการควบรวมว่าจะเป็นไปในทิศทางใด, แผนรองรับการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 รวมถึงตัวเลขความคุ้มทุนหลังจากควบรวมกิจการ ที่ทั้ง 4 ฝ่ายระบุว่า เมื่อควบรวมกิจการแล้ว ใน 6-7 ปี จะสามารถลดเงินลงทุนไปได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป ควรที่จะลดเงินลงทุนได้มากกว่านี้

“ถ้าควบรวมกิจการแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ได้นำจุดแข็งของตัวเองมารวมกัน เพื่อให้การควบรวมกิจการเกิดประโยชน์ จะควบรวมกิจการไปทำไม เราไม่สามารถนำองค์กรหลังควบรวมกิจการอยู่บนความเสี่ยงโดยไม่รู้อนาคตได้ ซึ่งทั้ง 4 ฝ่ายต้องไปคิดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีความละเอียดและชัดเจนมากกว่านี้”

ในขณะเดียวกัน จึงปิ๊งไอเดียที่จะให้ทีโอที-แคท เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G เนื่องจากมองว่าหลังปี 2568 เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้วจะสามารถนำคลื่นความถี่ที่ประมูลได้มาให้บริการ สานต่อกิจการให้ดำเนินต่อไป

โดยได้มอบหมายให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำแผนในการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ เช่น แผนการเงิน, บริหารจัดการและยุทธศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้เมื่อควบรวมกิจการแล้วต้องประมูลคลื่นความถี่เพื่อแข่งขันกับ
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นๆ ได้ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสทราบในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ซึ่งก็พบว่าแผนในการเข้าร่วมการประมูลยังคลุมเครือในหลายเรื่อง จึงให้กลับไปทำรายละเอียดมาใหม่ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562

และล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสเผยว่า การประชุมร่วม 4 ฝ่ายได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ เนื่องจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมีความเข้าใจมากขึ้น จึงได้มอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส รวบรวมข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสเพื่อพิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้ทันในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว จะทำให้กระบวนการควบรวมกิจการรวดเร็วขึ้น โดยจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ด้านบุคลากร 2.ด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และ 3.ด้านสัญญาสัมปทาน เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6-7 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป

“หากสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.และได้ข้อสรุปโดยเร็ว จะทำให้ทีโอทีและแคทมีโอกาสในการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ทั้งนี้ ต้องดูว่าจะสามารถควบรวมกิจการได้ทันหรือไม่ เพราะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งหากควบรวมกิจการไม่ทัน อาจให้ทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกันก่อน และหลังจากควบรวมกิจการแล้วจึงนำคลื่นความถี่มาให้บริการร่วมกัน”

ขณะที่ สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า การควบรวมกิจการระหว่าง 2 องค์กร ยังมีความยุ่งยากหลายขั้นตอน ทั้งเรื่องบุคลากร, ทรัพย์สิน, สัญญา และข้อผูกพันกับรัฐที่แต่ละบริษัทมี ซึ่งแม้ ครม.จะเห็นชอบให้ดำเนินการได้ แต่น่าจะใช้เวลานานพอสมควร

หากเทียบกับกรอบเวลาในการขับเคลื่อน 5G ของไทยที่ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นภายในปี 2563 ทำให้ต้องเร่งดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้น บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการอาจไม่สามารถจัดตั้งได้ทันตามกรอบเวลาในการจัดประมูลคลื่นความถี่ แต่หากสามารถจัดตั้งบริษัทได้ทัน การเข้าร่วมการประมูลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำมาร่วมประมูล แม้อาจจะมีเงื่อนไขในการขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ ก็ต้องใช้เงินในการเข้าประมูลตามหลักเกณฑ์อยู่ดี

นอกจากนี้ จะต้องขออนุมัติการเข้าร่วมการประมูลจากกระทรวงการคลัง หรือ ครม.ด้วย และหากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เข้าร่วมการประมูลและได้คลื่นความถี่ จำเป็นต้องมีการปรับตัวในการทำงาน โดยจะทำงานในแบบรัฐวิสาหกิจที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ อย่างเดิมไม่ได้ บริษัทใหม่จะต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก

“มองว่าการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ที่ทั้ง 2 องค์กร จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย เป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้จะคิดแผนในการรับมือกับอนาคต เพื่อให้สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที”

ทั้งนี้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า หากทีโอที-แคท จะเข้าประมูลก็สามารถทำได้ ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการประมูลต่อ กสทช.แล้ว

การควบรวมกิจการกันว่ายากแล้ว หลังการควบรวมกิจการอาจยากกว่า และคงต้องจับตาดูว่า “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด” รัฐวิสาหกิจเต็มขั้น จะลงสนามแข่งขันการประมูลคลื่นความถี่กับเอกชนรายอื่นๆ ได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image