‘ปนัดดา’บรรยายประสบการณ์วิชาทางการทูต ทำสังคมน่าอยู่ ไร้ขัดแย้ง แก้สถานการณ์จากหนักเป็นเบา

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย ข้าราชการตามรอยพระยุคลบาท” ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ 4/62 เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์” ณ โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. กองพันฝึกส่วนหลัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ตอนหนึ่งว่า

“โดยประสบการณ์ทางการศึกษาวิชาทางการทูต และบิดาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สอนให้เกิดความเข้าใจได้ว่า การเรียนรู้การใช้ภาษาทางการทูต ช่วยเสริมสร้างให้สังคมน่าอยู่ เกิดการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข การรู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากความขัดแย้ง และเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ความรู้-รัก-สามัคคี และเราทำความดีด้วยหัวใจ ศาสตร์พระราชาว่าด้วยความรู้-รัก-สามัคคี และเราทำความดีด้วยหัวใจ สามารถนำมาประกอบเข้ากับการเรียนการศึกษาหลักการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ภาษาทางการทูต (Diplomatic Language) ได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าความเป็นมืออาชีพในการใช้หลักภาษาที่มีสาระความรู้ เป็นวิชาการ มีความถูกต้องด้วยเหตุและผล การดำรงชีวิตที่มีระเบียบเรียบร้อย เป็นสุภาพชน และมีมิตรสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกคนใด กลุ่มใด หรือมิตรประเทศใดๆ ในโลก ในสังคมซึ่งปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก และมีหลากหลายมากมายทางความคิด อันก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือปรากฏการณ์ทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ”

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ความชำนาญการ ความรอบรู้ ในการใช้ภาษาทางการทูต (Diplomatic Language) ย่อมช่วยให้บุคคลหนึ่งๆ ในนามของหมู่คณะ องค์กร หรือประเทศชาติ สามารถแก้ไขสถานการณ์จากหนักให้กลายเป็นเบา หรืออาจไม่เกิดปัญหาใดๆ เลย กับอีกทั้งจะก่อให้เกิดไมตรีจิตอันดีงามเป็นที่จารึกจดจำอีกเป็นเวลายาวนานทางสัมพันธภาพ ได้แก่ ความตั้งใจและความพยายามในการทำความเข้าใจปัญหาหนึ่งๆ ในเบื้องต้น เรียกว่า ‘Concentration and be understanding’, หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงความสิ้นหวัง ความหมายในเชิงลบ ถ้อยคำที่หยาบคาย ดูหมิ่นดูแคลน ที่จะทำให้บุคคลหมดกำลังใจ หดหู่ใจ เสียใจ เจ็บใจ เรียกว่า ‘Avoid negative word’, ขณะเดียวกัน อย่าใช้คำว่า ‘ขอโทษ’ (Sorry) จนพร่ำเพรื่อ แต่ก็จำเป็นต้องใช้ตามโอกาสและเวลาที่เหมาะสม เพราะถือเป็นคำมหัศจรรย์ เป็น ‘Etiquette’ ซึ่งเน้นในเรื่องหลักสุจริตธรรม ประการสำคัญ แม้รวมถึงความสำนึก ความรับผิดชอบ กล่าวได้ว่า การใช้ถ้อยคำสนทนาที่เรียกว่ามีความเรียบง่าย แต่จริงใจ มีความหมายอันไพเราะ ไม่ทำร้ายจิตใจใคร ไม่เหน็บแนมใคร ไม่ใส่ร้ายป้ายสีใครผู้ใด ต้องไม่ตั้งคำถามสัมภาษณ์หรือสนทนากับใครเพื่อหวังกระทบกระทั่งว่ากล่าวบุคคลอื่นโดยทางอ้อม ลบหลู่ดูหมิ่นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ หรือสังคมของชาติอื่นใด ศาสนาอื่น ชาติพันธุ์หรือเผ่าพันธุ์อื่น ทำตัวคุยโวโอ้อวดและขาดกิริยามารยาทอันควร การพูดจาทั้งในห้องรับรอง หรือสถานที่สาธารณะ จงอย่าชี้มือชี้ไม้ ชี้หน้าบุคคล ชี้ไปที่โน่นที่นี่ เอ่ยชื่อบุคคล นามสกุล ชื่อองค์กร ชื่อประเทศ ในทางลบเป็นอันขาด อันจะสร้างความเสียใจ ความไม่พึงพอใจให้เกิดขึ้น เพราะเปรียบเสมือนการดูหมิ่นดูแคลนบุคคลอื่นและองค์กร สุดท้าย คือ การมีสัมมาคารวะ รู้จักจังหวะ โอกาส วัน-เวลา ยึดมั่นความสุภาพอ่อนน้อมอย่างสม่ำเสมอตามพระบรมราโชวาท การมีทัศนคติที่ดีต่อกันและชาติบ้านเมือง การยึดมั่น Code of Conduct, Code of Honour, Disciplinary Code ย่อมนำพาเกียรติยศเกียรติศักดิ์สู่ตน ครอบครัว องค์กร และประเทศชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image