09.00 INDEX : ยุทธศาสตร์ ของ พลังประชารัฐ ชิงการนำ กรรมาธิการ ป.ป.ช.

พลันที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งคำถามต่อพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 6 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129

และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ความคึกคักก็เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็น นายสิระ เจนจาคะ ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์

เพราะนั่นเท่ากับหนังสือด่วนที่สุดที่ สผ.0019.05/954 อันประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามมติ 6 ต่อ 3 ในที่ประชุมอาจต้องหยุดชะงักไม่เป็นผล

Advertisement

ขณะเดียวกัน ตำแหน่งของประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็เริ่มส่อเค้าว่าอาจคลอนแคลน

ความสนใจของสังคมจึงมิได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีท่าทีอย่างไร

จะไปหรือไม่ไป จะส่งหนังสือคืนคณะกรรมาธิการหรือไม่

หากแต่อยู่ที่ข้อเสนออันมาจากกรรมาธิการในซีกพรรคพลังประชารัฐที่เคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมาธิการ

รายชื่อกรรมาธิการ 15 คนจึงอยู่ในความสนใจ

ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการทั้งหมด 4 คนเป็นพรรคเพื่อไทย 3 คนเป็นพรรคพลังประชารัฐ 3 คนเป็นพรรคอนาคตใหม่ 2 คนเป็นพรรคภูมิใจไทย 1 คนเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 1 คนเป็นพรรคชาติพัฒนา 1 คนเป็นพรรคเสรีรวมไทย

รวมแล้วเป็นของพรรคฝ่ายค้าน 7 คน รวมแล้วเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล 8 คน

หากพิจารณาจากจำนวนเด่นชัดว่ากรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่า 1 ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฝ่ายค้านก็ไปดำรงตำแหน่งเป็นประธาน 1 จำนวนจึงน้อยกว่า

หากมองผ่านปริมาณความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนตัวประธานตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐมีสูง

เพียงแต่จะเอาใครมาแทนคนเก่าเท่านั้น

ในเมื่อกรรมาธิการคณะนี้ถือว่าเป็นโควตาของพรรคฝ่ายค้านมาแต่ต้น พรรคพลังประชารัฐจะยินยอมให้เหมือนที่เคยยินยอมมาก่อนหรือไม่

นี่เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะตกลงและแสดงมติออกมาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image