เริ่มเเล้ว20-24พ.ย.ไทยเจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน-สภาประธานศาลสูงอาเซียน

รูปจากเเฟ้ม

เริ่มเเล้ว 20-24 พ.ย.ไทยเจ้าภาพประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41-สภาประธานศาลสูงอาเซียนครั้งที่7  “ไสลเกษ”ปธ.ศาลฎีกา นั่ง ปธ.กก.สมาคมนักกฎหมายอาเซียนไทย เตรียมพร้อมศึกษาแนวทางความร่วมมือทางการศาล กระบวนพิจารณาคดีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์บริหารจัดการคดีและให้บริการเพื่อให้ประชาชนประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นาย สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 20-24 พ.ย.ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 7 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกฎหมาย และการพัฒนาฐานข้อมูลระบบการศาลของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA), Thailand) ได้จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2523ตามธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกฎหมายอาเซียน ซึ่งสมาคมดังกล่าวมีขึ้นตามมติที่ประชุมการพัฒนากฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย  โดยปัจจุบันมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย

โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41st ASEAN Law Association Governing Council Meeting) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 7 (7th Council of ASEAN Chief Justices Meeting) ประจำปี พ.ศ. 2562

Advertisement

ซึ่งในการประชุมในส่วนของสมาคมกฎหมายอาเซียนในครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 21 พ.ย.ที่ ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช (Phuket Marriott Resort & Spa, Merlin Beach) จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัย      นักกฎหมายภาครัฐและเอกชน จากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10  ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย โดยจะมีการประชุมหารือกิจกรรมทางวิชาการและความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ คณะกรรมาธิการถาวรข้อสนเทศทางกฎหมาย  (Legal Information)   คณะกรรมาธิการถาวรการศึกษากฎหมาย (Legal Education) คณะกรรมาธิการถาวรด้านการระงับข้อพิพาท (Alternative Dispute Resolution)คณะกรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Law) คณะกรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) คณะกรรมาธิการถาวรด้านวิชาชีพกฎหมาย (Legal Profession) คณะทำงานศึกษาด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment) ที่ผ่านมาสมาคมดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักกฎหมายในประเทศสมาชิก

ส่วนของการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ศาลยุติธรรมของประเทศไทย                  เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในวันที่ 22 พ.ย.ที่ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช (Phuket Marriott Resort & Spa, Merlin Beach) จังหวัดภูเก็ต และวันที่ 23 พ.ย.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง

Advertisement

สำหรับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองสถานะภายใต้กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางการศาล และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันมีคณะทำงานร่วมที่จัดตั้งโดยสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน รวม 7 คณะทำงาน ที่ผ่านมามีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลระบบการศาลของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดการฝึกอบรมร่วมกันของข้าราชการตุลาการของประเทศสมาชิก การศึกษาแนวทางความร่วมมือทางการศาลในส่วนที่เป็นกระบวนพิจารณาคดีซึ่งไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการคดีและการให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image