อากาศวิปริต! หนาวสลับร้อน ชาวกาฬสินธุ์เร่งจับกุ้งขาย ก่อนน็อคตายหมด

อากาศวิปริต! หนาวสลับร้อน ชาวกาฬสินธุ์เร่งจับกุ้งขาย ก่อนน็อคตายหมด

สภาพอากาศวิปริตในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งหนาวเย็นในช่วงกลางคืนและร้อนจัดตอนกลางวัน ที่จะเป็นสาเหตุทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทันและน็อคตาย ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เร่งจับกุ้งก้ามกรามจำหน่าย เพื่อลดความหนาแน่นและเกิดปัญหาน็อคตายหมดบ่อ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยในช่วงค่ำถึงตอนเช้าหนาวเย็น ขณะที่ช่วงเวลากลางวันร้อนจัด ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในเขต ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ต่างเร่งจับกุ้งจำหน่าย และระบายออกไปเลี้ยงในบ่อใหม่ เพื่อลดความหนาแน่น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากุ้งน็อคตายได้

นายวิโรจน์ ภูบุตรตะ สมาชิกผู้เลี้ยงกุ้งบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพอากาศวิปริตมาก กลางคืนหนาวเย็นและกลางวันร้อนจัด ในขณะที่นำที่จะระบายเข้าเติมในบ่อกุ้งแทบไม่มี เนื่องจากทางชลประทานเขื่อนลำปาว อยู่ในระหว่างปิดการส่งน้ำเพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า เมื่อประสบกับปัญหาอากาศวิปริต และไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่ายดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากุ้งน็อคตายในช่วงนี้ เหมือนที่เคยประสบมาทุกปี ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนเป็นจำนวนมาก และกุ้งขาดตลาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงได้ขุดเจาะบาดาลเพื่อดึงน้ำขึ้นมาบรรเทาความเสียหาย แต่ไม่ค่อยจะได้ผลนัก เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงกุ้ง คือน้ำที่สะดวกและสภาพอากาศที่นิ่ง เย็นสบาย เมื่ออากาศวิปริตแปรปรวนทั้งหนาวเย็นสลับร้อนดังกล่าว จึงต้องเร่งระบายกุ้งออกก่อนที่จะเกิดปัญหาน็อคตายทั้งบ่อ

Advertisement

ด้านนายสำรวย ชมพุฒ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง รักษาการประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงสภาพอากาศวิปริตและน้ำเปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้งไม่เพียงพอ สิ่งที่จะเตือนไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและกุ้งก้ามกรามในฤดูหนาวนี้ ประกอบกับทางโครงการชลประทานลำปาวปิดการส่งน้ำคือ ให้เกษตรกรทำการกักเก็บน้ำ เพื่อสำรองใช้ยามจำเป็น รวมทั้งลดการให้อาหารด้วย เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเศษอาหารและทำให้น้ำเสียได้ง่าย เนื่องจากในฤดูหนาว กุ้งจะไม่ค่อยกินอาหารเท่าที่ควร จึงขอให้ลดจำนวนการให้อาหารลง ตลอดทั้งลดอัตราความหนาแน่นของประชากรกุ้งที่เลี้ยงในบ่อ ซึ่งจะเป็นวิธีที่สามารถลดความเสียหายจากปัญหากุ้งน็อคตายในช่วงอากาศวิปริตและชลประทานปิดส่งน้ำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image