อัยการชี้คดีมรดก 3,800 ไร่เป็นคดีแพ่งรื้อฟื้นพิจารณาใหม่ไม่ได้เเต่ฟ้องเพิกถอนที่คืนได้

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

อัยการธนกฤตเผย คดีมรดก 3,800 ไร่ เป็นคดีแพ่งรื้อฟื้นพิจารณาใหม่ไม่ได้ แต่หากที่เป็นของมูลนิธิจริง ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอน แก้ไขทะเบียนกลับมาเป็นชื่อของมูลนิธิได้

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดเเละอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งชั้นสูง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงประเด็นการรื้อฟื้นคดีคดีพิพาทที่ดินมรดก 3,800 ไร่ มีข้อความว่า

กรณีพิพาทเรื่องที่ดินมรดกจำนวน 3.800 ไร่ ของนายสมพล โกศลานันท์ ซึ่งตามข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชน  นางสาวเขมจิรา บัณฑูรพินิท อดีตภรรยาคนที่ 2 ของ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ให้สัมภาษณ์ว่านายสมพลได้ขายที่ดินผืนนี้ให้กับมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย โดยมีพระกิตติวุฒโฑ เป็นผู้ซื้อที่ดินในนามมูลนิธิเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการพระพุทธศาสนา  และนางสาวเขมจิราได้กล่าวว่าอยากจะร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดีพิพาทที่ดินผืนนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่ง และศาลได้มีคำพิพากษาชี้ขาดไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่

ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับคดีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ความเห็นทางวิชาการในเรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่เท่านั้น โดยไม่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ให้ความเห็นว่าที่ดินผืนนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของคู่กรณีฝ่ายไหนทั้งสิ้น

Advertisement

เรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ กฎหมายไทยกำหนดไว้เฉพาะในคดีอาญาและคดีปกครอง ส่วนคดีแพ่งนั้นกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดเรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไว้

คดีอาญาที่จะขอให้รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 กำหนดให้ต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา โดย มาตรา 5 กำหนดกรณีที่จะขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ไว้ 3กรณี คือ

1.มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าคำเบิกความของพยานบุคคลที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดีเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ2.มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคล เช่น พยานเอกสาร พยานวัตถุ ที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดี เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ3.มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาไม่ได้กระทำความผิด สำหรับการรื้อฟื้นคดีปกครองขึ้นพิจารณาใหม่นั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) ในกรณีที่ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยให้สิทธิคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองได้ใหม่

Advertisement

แต่กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดเรื่องการขอรื้อฟื้นคดีในกรณีของพยานหลักฐานเท็จหรือปลอม หรือมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปไว้ในคดีแพ่งแต่อย่างใด ทั้งที่กรณีดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในคดีแพ่งเช่นเดียวกับในคดีอาญาและคดีปกครอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) ของไทยบัญญัติเรื่องการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้เฉพาะกรณีคู่ความขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติรองรับเรื่องคำพิพากษาของศาลผิดพลาดเพราะพยานหลักฐานเท็จหรือปลอม หรือมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปไว้ด้วย และไม่สามารถนำเอา ป.วิ.พ. มาตรา 143 และมาตรา 27 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ เพราะมาตรา 143 เป็นบทบัญญัติรองรับเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนมาตรา 27 ก็ใช้สำหรับการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ   ซึ่งต้องกระทำก่อนมีคำพิพากษาและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น

ในเรื่องนี้จะมีความแตกต่างจากกฎหมายของต่างประเทศที่บัญญัติเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่หรือการรื้อฟื้นคดีแพ่งขึ้นพิจารณาใหม่ โดยมีขอบเขตที่กว้างกว่ากฎหมายไทย อย่างเช่น ในกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี การรื้อฟื้นคดีแพ่งขึ้นพิจารณาใหม่นอกจากจะทำได้ในกรณีที่คู่ความขาดนัดเหมือน ป.วิ.พ.ของไทยแล้ว ยังสามารถทำได้ในกรณีอื่นดังต่อไปนี้ด้วย

(1)การค้นพบพยานหลักฐานใหม่ และพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญเพียงพอที่จะทำให้คำพิพากษาของศาลเปลี่ยนแปลงไป(2)คำพิพากษาของศาลผิดพลาดเพราะพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จหรือศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ (3)ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดพลาด

ดังนั้น ในเรื่องการรื้อฟื้นคดีแพ่งขึ้นพิจารณาใหม่จึงนับว่าเป็นช่องว่างของกฎหมายไทยและเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งของไทยที่ถูกมองข้าม ทั้งที่คดีแพ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยไม่น้อยไปกว่าคดีอาญาและคดีปกครอง จึงควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายโดยบัญญัติเรื่องการรื้อฟื้นคดีแพ่งขึ้นพิจารณาใหม่ในกรณีพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งกรณีที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดพลาดไว้ในคดีแพ่งด้วย เพื่ออำนวยความยุติธรรม คุ้มครองสิทธิและประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้มากขึ้น

สำหรับคดีพิพาทเรื่องที่ดินมรดกนี้ ถึงแม้จะขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในคดีแพ่งไม่ได้ แต่หากปรากฏหลักฐานว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิพระอภิธรรมมหาธาตุ  (ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นโต้แย้งกันอยู่ระหว่างคู่กรณีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใด) มูลนิธิและผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายต่อศาลเพื่อขอให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่มูลนิธิ โดยขอให้มีการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของมูลนิธิได้

ส่วนจะฟ้องต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองนั้น เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นหลายประเด็นเกี่ยวพันกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของใครซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในทางแพ่ง ถึงจะมาวินิจฉัยประเด็นที่เป็นประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดผลสุดท้ายของคดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงเป็นประเด็นข้อถกเถียงทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติ โดยแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วินิจฉัยวางแนวไว้จำนวนมากว่า หากประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ก็จะให้ศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคดีเรื่องนั้นทั้งคดี ทั้งที่ประเด็นที่เป็นประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดผลสุดท้ายของคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543  ข้อ 41 วรรคสอง อีกทั้งไม่สอดคล้องกับเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามความเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image