ที่ประชุมรมต.ร่วมมือศก.อนุภูมิภาคลุ่มม.โขงเห็นชอบกรอบลงทุนภูมิภาค 255 โครงการ 2.87 ล้านล้านบ.

“ถาวร”นำทีมไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีความร่วมมือเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ เห็นชอบกรอบลงทุนภูมิภาค 255 โครงการ 2.87 ล้านล้านบาท

เมื่อที่ 18 พฤศจิกายน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation Program: GMS) ของไทย นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่ โรงแรมโซฟิเทล โพฆีธรา พนมเปญ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา โดยสภาเพื่อการพัฒนา แห่งกัมพูชา เป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ภายใต้หัวข้อหลัก “เพื่อการบูรณาการที่ขยายเพิ่ม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค GMS” โดยมี นายซก เจนดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมูชา เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอิอ รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออก-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และการประชุมฯ มีนางสาวเจิ้ง ลี่หัว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเวียง สะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นาย ออง ทู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายวู ไต๋ ธาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน เข้าร่วม

การประชุมฯ ครั้งนี้ ยังประกอบด้วยการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. การประชุมระดับรัฐมนตรี อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีนายถาวร เสนเนียม เข้าร่วมพร้อมด้วย นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รักษาการที่ปรึกษา
ด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2. การประชุมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และ 3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแผนงาน โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน GMS ยังมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหุ้นส่วนการพัฒนาต่าง ๆ ภาคเอกชน (สภาธุรกิจ GMS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมประชุมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2573 กรอบการประเมินผล และแผนงานวิจัยสนับสนุน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้นำประเทศ GMS ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งให้ความสำคัญกับการร่างทิศทางการดำเนินงาน ในระยะยาวหลังปี 2565 ของแผนงาน GMS เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทายในการนี้ แผนงาน GMS จึงจำเป็นต้องปรับบทบาทและเร่งปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและ ข้อท้าทายดังกล่าว โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง และมุ่งกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม” พันธกิจ คือ “แผนงานความร่วมมือในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นความแข็งแกร่งของฐานราก คือความเชื่อมโยง ขีดความสามารถในการแข่งขัน และประชาคม รวมทั้ง ได้ประยุกต์ใช้หลักการของภูมิคุ้มกัน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มีการบูรณาการทั้งในระดับภูมิภาค และนอกภูมิภาค และมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ” ในส่วนของเสาหลักการพัฒนา นั้น ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างเข้มข้น ตามหลักการ“3Cs” ของแผนงาน GMS คือ (1) ความเชื่อมโยง เน้นการพัฒนาการขนส่งหลายรูปแบบเพื่อพัฒนาโลจิสติกส์ และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้ความตกลงCBTA (2) ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการปรับปรุงวิธีการศุลกากรให้ทันสมัยขึ้น การนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และ (3) ประชาคม โดยเน้นการนำใช้เทคโนโลยีสีเขียว มีแนวนโยบายสร้างภูมิคุ้มกันทางสิ่งแวดล้อม และแนวคิดริเริ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพใน GMS

2.รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบรายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 2 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ประกอบด้วยโครงการ
ใน 10 สาขาความร่วมมือจำนวนทั้งสิ้น 255 โครงการ มีมูลค่ารวมกันกว่า 9.27 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ (ประมาณ 2.87 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการกว่าร้อยละ 60 (จำนวน 153 โครงการ) หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.52 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ (ประมาณ 1.71 ล้านล้านบาท) ที่ยังไม่มีแหล่งเงินในการลงทุน โดยในส่วนของโครงการของไทยภายใต้กรอบ RIF2022 ประกอบด้วยโครงการจำนวน 89 โครงการ มูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ (ประมาณ 6.95 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 27.71 ของมูลค่าโครงการในกรอบ RIF2022 ทั้งหมด แผนงานด้านคมนาคมขนส่งยังคงเป็นแผนงานในลำดับความสำคัญสูง โดยมีมูลค่าลงทุนประมาณ 2.19 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 6.81 แสนล้านบาท) รองลงมาคือแผนงานด้านการท่องเที่ยว ด้านพลังงาน และด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการมูลค่าลงทุนสูงของไทยที่ได้เริ่มดำเนินการ และเข้าสู่กลไกงบประมาณแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

Advertisement

3.รัฐมนตรี GMS รับทราบยุทธศาสตร์สาขาความร่วมมือด้านสุขภาพปี 2562-2566 ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิก GMS ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว

4.รัฐมนตรี GMS ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของหุ้นส่วนการพัฒนาใน GMS และความร่วมมือของภาคเอกชน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการร่วมพัฒนาโครงการภายใต้กรอบการลงทุนของภูมิภาคปี 2565

5.รัฐมนตรี GMS ตระหนักถึงความสำคัญด้านการปรับปรุงกลไกการดำเนินงาน โดยสนับสนุนการเจรจาหารือเรื่องการจัดตั้งสำนักงานประสานการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค (RPCC) และการจัดตั้งสำนักงานประสานงานการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MTCO) ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศ และมีที่ตั้ง ณ กรุงเทพมหานคร ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

Advertisement

6.รัฐมนตรี GMS รับทราบกำหนดการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 7 กำหนดจัดขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

7.รัฐมนตรีรับทราบการประชุมเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 โดยประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุมฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 แผนงาน GMS และ กำหนดจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2563 โดย สศช. ร่วมกับหน่วยงานประสานหลักในสาขาความร่วมมือทั้ง 10 สาขา จะได้ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ในระยะปี 2573 ซึ่งสอดคล้อง กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ด้วยแล้ว เพื่อสนับสนุน การพัฒนาตามหลักการ“3Cs” ซึ่งยึดถือเป็นแนวทางการพัฒนาของแผนงาน GMS ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2535

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image