บอร์ดอนุอีอีซีดันตั้งการแพทย์จีโนมิกส์ ดูดลงทุนต่างชาติ 2 หมื่นล้าน พร้อมเร่งตั้งโรงงานกำจัดขยะ

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าและมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งหมด  3 เรื่อง ได้แก่ ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งหมด 14 โครงการ งบประมาณ 3,000 ล้านบาท  โดยจะมีการทำศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ ด้านการแพทย์ ด้านจีโนมิกส์  หรือการศึกษาเกี่ยวกับการหาดีเอ็นเอและรหัสพันธุกรรม เพื่อยกระดับด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซีเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ

นายคณิศกล่าวว่า ทั้งนี้ในการตั้งเมดิคัลฮับ ด้านการแพทย์ ฯ จะใช้พื้นที่ในอาคาร 10 ปีเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ประมาณ  3.8 ไร่ เป็นอาคารรวม 12 ชั้น พื้นที่อาคารรวมประมาณ 24,000 ตารางเมตร โดยจะมีการลงทุนตั้งโครงการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อพัฒนาการให้บริการด้านแพทย์จีโนมิกส์ ในระยะแรก 1,700 ตารางเมตร ซึ่งรัฐบาลจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเครื่องมือประมาณ 1,250 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

“การลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรายประเทศ สนใจจะมาลงทุนในโครงการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์  อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีเงินลงทุนจากเอกชนราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งทางบอร์ดอีอีซี จะรีบนำเสนอรายชื่อผู้ที่สนใจลงทุนต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ในเดือนธันวาคมนี้”นายคณิศ กล่าว

Advertisement

นายคณิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนโครงการศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์  รัฐบาลจะของบประมาณ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 750 ล้านบาท ทุกปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อซื้อบริการถอดรหัสพันธุกรรม จำนวน 5,000 ราย รายละไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อให้ศูนย์บริการนี้ มีฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยทุกคนในประเทศ เพื่อที่จะได้นำมาต่อยอดในการผลิตยารักษาโรคในอนาคต

นายคณิศ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่อีอีซีจะมีขยะเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตันต่อวัน  ในปี 2580 หรืออีก 20 ปี หลังจากข้อมูลปี 2561 ระบุว่า ในเขตอีอีซี มีขยะถึงวันละ 4,200 ตันต่อปีนั้น  ทั้งนี้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนกำจัดกัดขยะ  3 ประเภท ได้แก่ ขยะบก ขยะบนเกาะ และขยะในทะเล ภายใน 3 เดือน รวมทั้งจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

นอกจากนี้ยังให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด มหาชน  (GPSC) ซึ่งมีโรงงานต้นแบบที่ลงทุนกำจัดขยะอยู่แล้ว เข้าร่วมศึกษาเพื่อพัฒนาการลงทุนโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร  และให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเรื่องนี้จะนำเสนอที่ประชุม กพอ. พิจารณาต่อไปในเดือนธันวาคม 2562

Advertisement

นายคณิศ กล่าวต่อว่า เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่มีการลงนามร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน ได้พิจารณาแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตามที่คณะกรรมการ กบอ.เห็นชอบในหลักการ โดยได้ตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหารสัญญา ขึ้นมาดูแลแล้ว

สำหรับแผนส่งมอบพื้นที่ประกอบด้วย 1.แอร์พอร์ต เรลลิงค์ จำนวน 28 กิโลเมตร(กม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ส่งมอบพื้นที่ได้เลยเมื่อเอกชนจ่ายค่าให้สิทธิการเดินรถไฟฟ้า 2.ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ- พญาไท จำนวน 22 กิโลเมตร(กม.) จะเร่งรัดส่งภายใน 1 ปี 3 เดือน และ3.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จำนวน 170 กม. จะเร่งรัดส่งภายใน 2 ปี 3 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image